ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ที่มีรอยสัก จำนวนมากในหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาจากการรับสมัครงาน เนื่องจาก ผู้ประกอบการจำนวนมากปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าทำงาน
Rights Watch ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2557
 
ผู้ที่มีรอยสัก จำนวนมากในหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาจากการรับสมัครงาน เนื่องจาก ผู้ประกอบการจำนวนมากปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าทำงานเพียงเพราะมีรอยสัก แล้วการปฏิเสธคนมีรอยสักผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ 
 
หลายปีที่ผ่านมา "รอยสัก" ได้รับความนิยมจากหนุ่มสาวชาวฮิปสเตอร์เป็นอย่างมาก ทว่า รอยสักของพวกเขาได้สร้างปัญหาปากท้องให้แก่พวกเขาด้วย เนื่องจาก บริษัทห้างร้านจำนวนมากปฏิเสธคนมีรอยสักเข้าทำงาน แม้ว่า พวกเขาทั้งหลายจะมีคุณสมบัติ ประสบการณ์การทำงาน ไหวพริบปฏิภาณ ตามที่บริษัทต้องการก็ตาม 
 
จากกรณีดังกล่าว บริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ เชื่อว่าพวกเขามีสิทธิโดยชอบตามกฎหมายที่จะปฏิเสธคนมีรอยสักเข้าทำงาน แม้ว่าการปฏิเสธจะส่งผลสำคัญต่อภาคแรงงานก็ตาม เพราะโดยปกติแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายประเทศโดยเฉพาะอยู่แล้ว
 
จากรายงานของสมาคมสังคมวิทยาแห่งประเทศอังกฤษ พบว่า เจ้าของบริษัทห้างร้านมักมีทัศนคติไม่ดีต่อคนมีรอยสัก เพราะว่า พวกเขาต้องการปกป้องภาพลักษณ์ของพนักงานและบริษัท จากหลายกรณีพบว่า ลูกค้าที่ใช้บริการห้างร้านที่พนักงานมีรอยสัก ก็มีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันคือ พวกเขาเหล่านั้นดูไม่เรียบร้อย สกปรก เป็นพวกติดยาเสพติด และรู้สึกต่อต้าน จนไม่อยากใช้บริการอีกต่อไป
 
จากกรณีตัวอย่าง ผู้ให้คำแนะนำลูกค้าวัย 39 ปี ในเมืองมิลตัน-เคนส์ มณฑลบักกิงแฮมเชอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ เคยถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน เพราะว่า เธอมีรอยสักที่ข้อเท้าขนาด 4 เซนติเมตร โดยบริษัทที่เธอสมัครงานให้เหตุผลปฏิเสธว่า บริษัทมีนโยบายห้ามพนักงานมีรอยสักและเธอไม่สามารถปกปิดรอยสักดังกล่าวได้
 
ในญี่ปุ่นการปฏิเสธบุคคลที่มีรอยสักไม่ให้เข้าทำงานในบริษัทห้างร้านถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก คนที่มีรอยสักในญี่ปุ่นคือ "ยากูซ่า" ส่วนในสหรัฐฯ ศาลอุทธรณ์ได้เคยพิจารณาคดีในประเด็นดังกล่าว โดยระบุให้พนักงานต้องปกปิดรอยสักของตนเอง ขณะที่ อังกฤษมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บริษัทห้างร้านสามารถปฏิเสธคนที่มีรอยสักบนใบหน้าหรือเกินปกเสื้อเข้าทำงานได้
 
อย่างไรก็ตาม พนักงานผู้มีรอยสักจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรม จึงได้รวมกลุ่มและออกแคมเปญเพื่อปกป้องสิทธิในการเข้าทำงาน โดยให้โอกาสในการเข้าทำงานระหว่างคนที่มีรอยสักและคนที่ไม่มีรอยสักอย่างเท่าเทียมกัน แต่การต่อสู้ก็มิได้เข้มข้นหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กฎหมายในหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้คุ้มครองผู้ที่มีรอยสัก เพื่อป้องกันการถูกปลดหรือถูกปฏิเสธจากงานแต่อย่างใด
 
ท้ายที่สุดแล้ว หลายคนจึงยังคงตั้งคำถามว่า เราควรพิจารณาบุคคลเข้าทำงานด้วยคุณสมบัติที่เพียบพร้อม หรือพิจารณาที่ความชอบส่วนบุคคลในลวดลายบนเรือนร่างของพวกเขากันแน่
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog