ไม่พบผลการค้นหา
แนวทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตลอดสัปดาห์นี้ ในช่วง Future is ours เราจะนำเสนอแนวทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายแนวทางเริ่มต้นใช้กันมาบ้างแล้ว เพื่อให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน มีคุณลักษณะเป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21
 
ปัจจุบัน "ความรู้" มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถเข้าถึงและใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นกระบวนการเรียนในศตวรรษที่ 21 ย่อมต้องมีความแตกต่างไปเดิม เนื่องจากพบว่า การท่องจำและวัดผลด้วยข้อสอบ ทำให้เด็กมีความรู้จำกัด ขาดการพัฒนา
 
กระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดจะต้องส่งผลให้เด็กและเยาวชน มีคุณลักษณะเด่นๆ 3 ประการคือ สามารถใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความรับผิดชอบ  มีทักษะการเรียนรู้ที่เป็นระบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาได้ สุดท้ายคือ สามารถใช้ ประเมินผล และวิเคราะห์เทคโนโลยีสนเทศ รวมทั้งสื่อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
สารคดีความยาว 11 นาทีครึ่ง ชุด "วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21" ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สะท้อนให้เห็นว่า การท่องจำตามหลักสูตรการศึกษาเก่าในศตวรรษที่ 19 และ 20 ไม่เพียงพอสำหรับโลกในอนาคต
 
หากระบบการศึกษาไทย ยังไม่ถูกปฎิรูปโดยเร็ว เด็กและเยาวชนไทยในอนาคต ก็ไม่ต่างจากเครื่องบันทึกความจำ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความรู้ใหม่ ที่ไม่มีวันหยุดนิ่งได้ ส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาชาติ
 
 
เป้าหมายของศาตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช และนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คือต้องการเห็นคนไทยในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ 
 
พร้อมยอมรับว่า ความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบัน เกิดมาจากระบบการศึกษาไทย ที่ไม่ได้สอนให้คนคิดวิเคราะห์เป็น จึงทำให้เชื่อคนง่าย ขาดวิจารณญาณ และกลายเป็นคนไร้เหตุผลในที่สุด 
 
รูปแบบการศึกษาใดบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการเรียนรู้ พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 พรุ่งนี้กลับมาติดตามในช่วง Future is ours 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog