กรณีของน้องแกมมี่ ทำให้การอุ้มบุญกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในไทย แต่ในต่างประเทศ การอุ้มบุญเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วทั้งในแง่มุมกฎหมายและศีลธรรม
Culture Corner ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2557
กรณีของน้องแกมมี่ ทำให้การอุ้มบุญกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในไทย แต่ในต่างประเทศ การอุ้มบุญเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วทั้งในแง่มุมกฎหมายและศีลธรรม โดยเฉพาะในอินเดีย ที่ผู้หญิงยากจนจำนวนมากถูกมองว่ากลายเป็นเครื่องจักรผลิตลูกให้กับเศรษฐีตะวันตก
การมีลูกสืบสายโลหิต เป็นพันธกิจของมนุษยชาติ และแม้ทุกวันนี้จะมีคู่แต่งงานจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้ชีวิตไร้พันธะ ไม่มีลูก แต่ดูเหมือนจะมีสามีภรรยาจำนวนไม่น้อยไปกว่ากัน ที่ประสบปัญหามีบุตรยาก และต้องขวนขวายพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะมีลูก โดยอาศัยกรรมวิธีการแพทย์ที่ก้าวหน้าหลากหลายวิธี ตั้งแต่การกินยา ทำกิฟ ผสมเทียม แต่วิธีที่ดูจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ก็คือการผสมเทียมแล้วนำตัวอ่อนไปฝากในครรภ์ของหญิงอีกคน หรือที่เรียกกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า "อุ้มบุญ"
ในหลายประเทศ รวมถึงไทย การว่าจ้างหญิงคนอื่นให้ตั้งครรภ์แทน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย การอุ้มบุญจะทำได้ก็ต่อเมื่อแม่อุ้มบุญเป็นญาติกับแม่เจ้าของไข่ และเต็มใจอุ้มท้องให้โดยไม่รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งการหาผู้ใจบุญขนาดนี้เป็นเรื่องยากและเสียเวลานาน ทำให้เกิดธุรกิจนายหน้าหาแม่อุ้มบุญในประเทศโลกที่สาม ซึ่งการรับจ้างอุ้มบุญเป็นอาชีพสุจริตที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยประเทศที่ธุรกิจอุ้มบุญเฟื่องฟูที่สุดในโลก ก็คืออินเดีย
นับตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งรัฐบาลอินเดียออกกฎหมายรับรองการรับจ้างอ้มบุญ ธุรกิจคลีนิกรับอุ้มบุญก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ ผลสำรวจจากสหประชาชาติพบว่า มีคลีนิกที่รับจ้างหาแม่อุ้มบุญให้กับชาวต่างชาติกระเป๋าหนักมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ทำเงินให้กับอินเดียถึงปีละ 400 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 13,000 ล้านบาท
ภาพของหญิงทั้งสาวและไม่สาวอุ้มท้องนอนเรียงรายกันอยู่ในคลีนิกที่สภาพไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเท่าไหร่นัก อาจจะไม่ใช่ภาพที่พ่อแม่ผู้ต้องการจ้างแม่อุ้มบุญอยากเห็น เพราะดูเหมือนพวกเขากำลังเอาเปรียบหญิงสาวในโลกที่สามเหล่านี้ แต่บรรดาเจ้าของคลีนิกอุ้มบุญบอกว่าการรับจ้างอุ้มบุญ นอกจากจะ "ได้บุญ" ที่ได้ช่วยให้คนอยากมีลูกได้สมหวัง ยังถือเป็นงานที่ช่วยเพิ่มรายได้ ยกระดับฐานะให้กับผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่มีการศึกษา ขาดรายได้ และตกเป็นเบี้ยล่างของสังคม เจ้าของคลีนิกบางส่วนถึงกับบอกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพ "เฟมินิสต์" ในแง่ที่มีการแปรศักยภาพในความเป็นแม่ตามธรรมชาติของผู้หญิงออกมาเป็นตัวเงินได้อย่างชาญฉลาดและสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
แต่ในมุมกลับกัน แม้ผู้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญในอินเดียจะได้เงินจำนวนไม่น้อย ประมาณ 6,500 ดอลลาร์ หรือ 200,000 บาท มากกว่าที่พวกเธอจะหาได้ในการทำงานรับจ้างหรือทำไร่ไถนาหลายร้อยเท่า แต่คลีนิกอุ้มบุญรับเงินจากพ่อแม่ในแต่ละเคส มากถึง 25,000-30,000 ดอลลาร์ ทำให้เกิดคำถามว่า หญิงสาวเหล่านี้กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายหน้าหรือไม่ ยังไม่พูดถึงอีกหลายกรณีที่พวกเธอถูกสามีหรือพ่อแม่บังคับให้อุ้มบุญเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งทำให้การอุ้มบุญ แทบไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้ผู้หญิงขายตัว
จนถึงทุกวันนี้เส้นแบ่งระหว่างการอุ้มบุญ ได้บุญที่ช่วยให้พ่อแม่ที่มีลูกเองไม่ได้ ได้สมหวัง และยังได้เงินมาจุนเจือครอบครัว กับการทำบาป ในแง่ของการทำนาบนหลังคน ทำให้ผู้หญิงยากจนไร้การศึกษาในโลกที่สาม ต้องกลายเป็นเครื่องจักรผลิตลูกให้กับเศรษฐีตะวันตก และทำเงินให้กับนายหน้าในประเทศตัวเอง ยังคงไม่มีพรมแดนที่ชัดเจน มีเพียงคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆว่าการอุ้มบุญนั้น ที่จริงแล้วเป็น "บุญ" หรือเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่