จากกระแสความตื่นตัวกรณีที่สามีภรรยาเลือกรับเลี้ยงลูกที่เกิดจากการอุ้มบุญไปเพียงคนเดียว คือแฝดที่มีสุขภาพดี ทิ้งแฝดที่เป็นดาวน์ซินโดรมและโรคหัวใจไว้กับหญิงอุ้มบุญ ทำให้เกิดคำถามย้อนไปว่าการอุ้มบุญเป็น
จากกระแสความตื่นตัวกรณีที่สามีภรรยาเลือกรับเลี้ยงลูกที่เกิดจากการอุ้มบุญไปเพียงคนเดียว คือแฝดที่มีสุขภาพดี ทิ้งแฝดที่เป็นดาวน์ซินโดรมและโรคหัวใจไว้กับหญิงอุ้มบุญ ทำให้เกิดคำถามย้อนไปว่าการอุ้มบุญเป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ แล้วอุ้มบุญเช่นไรจึงจะถือว่าถูกกฎหมาย ติดตามได้จากรายงาน
จากกรณีของนางสาวภัทรมน จันทร์บัว หญิงสาวชาวไทย อายุ 21 ปี ที่รับจ้างอุ้มบุญให้กับสามีภรรยาจากออสเตรเลียคู่หนึ่ง แลกกับค่าตอบแทน 14,900 ดอลลาร์ หรือราว 490,000 บาท ทำให้เกิดการตั้งคำถามไปทั่วโลกว่า การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายหรือไม่
ปัจจุบัน กฎหมายออสเตรเลียยังไม่อนุญาตให้มีการว่าจ้างหญิงอุ้มบุญ โดยผู้ที่จะอุ้มบุญให้จะต้องทำโดยสมัครใจเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และต้องใช้เวลานานในการหาอาสาสมัคร คู่สมรสชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่ต้องการมีบุตรด้วยวิธีการนี้ จึงนิยมไปว่าจ้างผู้หญิงในอินเดีย ไทย สหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ให้อุ้มบุญ
เมื่อเด็กคลอด จึงนำกลับมายังออสเตรเลีย โดยต้องมีเอกสารขอสัญชาติออสเตรเลียแบบสืบเชื้อสาย เนื่องจากเด็กไม่ได้เกิดในประเทศ ซึ่งสร้างความยุ่งยาก และในบางกรณีก็เกิดปัญหา จนไม่สามารถนำเด็กกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริงได้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีการอุ้มบุญจากต่างประเทศเช่นนี้ประมาณ 400-500 กรณี
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คู่สามีภรรยาไม่สามารถรับเด็กไปอยู่ด้วยกัน เนื่องจากรัฐบาลสืบทราบได้ว่าข้อตกลงอุ้มบุญเกิดขึ้นโดยมีการว่าจ้าง และการว่าจ้างนั้นผิดกฎหมายในประเทศที่ทำข้อตกลงอุ้มบุญ จึงทำให้เด็กที่เกิดมาอยู่ในความรับผิดชอบของแม่อุ้มบุญไปตามกฎหมาย
นั่นคือ หากข้อตกลงว่าจ้างให้อุ้มบุญเกิดขึ้นในอินเดีย ซึ่งนับว่าถูกกฎหมาย ก็จะไม่มีปัญหา แต่หากข้อตกลงว่าจ้างให้อุ้มบุญเกิดขึ้นในไทย ซึ่งผิดกฎหมาย ก็จะเป็นอุปสรรคในกระบวนการรับเลี้ยงทันที ยกเว้นคู่สามีภรรยาจะยืนยันว่า เป็นการอุ้มบุญโดยสมัครใจ ไม่คิดราคา
ทั้งนี้ คู่สามีภรรยาที่เลือกใช้วิธีอุ้มบุญนั้น จะต้องได้รับการตรวจร่างกายแล้วว่ามีปัญหาในการเจริญพันธุ์จริง และต้องเป็นคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น คนโสดและคู่รักร่วมเพศยังไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวในการมีลูกได้
สหประชาชาติและหลายประเทศยังยึดถือหลักในการปกป้องสิทธิเด็ก ซึ่งทำให้การว่าจ้างอุ้มบุญไม่ต่างอะไรกับการค้ามนุษย์ ซึ่งสิทธิในการเป็นผู้ปกครองอาจไม่มีน้ำหนักพอที่จะยกขึ้นมาหักล้าง ทำให้นักกฎหมายส่วนหนึ่งแนะนำว่า การจะจัดการปัญหาที่เกี่ยวโยงกับการอุ้มบุญนี้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการอุ้มบุญ เพื่อให้ทุกประเทศมีข้อปฏิบัติเหมือนกัน โดยเฉพาะการทำแท้งและสิทธิเหนือตัวเด็ก จะได้ไม่เกิดปัญหาช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว