ไม่พบผลการค้นหา
สัปดาห์ ที่ผ่านมา มีการแลกหุ้นครั้งใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี มูลค่า 27,000 ล้านบาท เพื่อแลกหุ้นกับกลุ่มอิโตชู ของญี่ปุ่น มูลค่า 32,000 ล้านบาท

สัปดาห์ ที่ผ่านมา มีการแลกหุ้นครั้งใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี มูลค่า 27,000 ล้านบาท เพื่อแลกหุ้นกับกลุ่มอิโตชู ของญี่ปุ่น มูลค่า 32,000 ล้านบาท สาหตุของการแลกหุ้นครั้งนี้มีที่มาจากอะไร และจะช่วยธุรกิจของซีพีและอิโตชูอย่างไร

การเข้าซื้อกิจการ การเทคโอเวอร์ การแลกหุ้น อาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธุรกิจของไทย รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีการธุรกรรมลักษณะนี้ รวมทั้งกรณีของไชน่า โมบาย ที่เข้ามาถือหุ้นมูลค่า 27,000 ล้านบาท ในกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ธุรกิจสื่อสารของCP ในไทย

แต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือ CP  ก็ลงนามความร่วมมือกับ นายมาซาฮีโร่ โอกาฟูจิ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น ที่ฮ่องกง โดยซีพีได้เข้าไปถือหุ้นในอิโตชู มูลค่า 32,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.29% โดยอิโตชู จะเข้าถือหุ้น บริษัทซี.พี.โภคภัณฑ์ หรือ CPP ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง  25% มูลค่า 27,200 ล้านบาท โดย CP ได้รับเงินสดจำนวนนี้ตอบแทน

แม้คำอธิบายของการแลกหุ้นครั้งนี้ เพื่อใช้จุดแข็งของทั้งสองบริษัทขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนไปทั่วโลก ทั้งด้านอาหาร เคมีภัณฑ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน และอุตสาหกรรมครบวงจร รวมทั้งจะส่งเสริมธุรกิจด้านอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดซื้อ การขนส่ง การขาย และการพัฒนาตลาดใหม่ ซึ่งเป็นคำอธิบายสุดคลาสสิคของทุกดีลก็ตาม

แต่การแลกหุ้นครั้งนี้ ทำให้ซีพีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มบริษัทอิโตชู บริษัทการค้าชั้นนำมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ที่คาดว่า จะมียอดขาย ณ เดือนมีนาคม 2557 สูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท และมีธุรกิจครบวงจรเช่น ด้านการเกษตร ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น รวมทั้งค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ และยังเป็นเจ้าของธุรกิจแฟมิลี่ มาร์ท ร้านสะดวกซื้อใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ซึ่งในประเทศไทย เครือ CP โดย บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ใหญ่ที่สุดกว่า 7 พันสาขา ทีได้รับใบอนุญาตจากเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ของญี่ปุ่น ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทในไทย มีสาขา 1 พันแห่ง ไทย เป็นอันดับ 2 ในตลาดของไทย และมีกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ถือหุ้นและผู้บริหารหลักในปัจจุบัน จึงไม่แน่ว่า แฟมิลี่มาร์ทในไทย จะได้รับผลกระทบจากดีลนี้หรือไม่

รวมทั้ง คาดว่าจุดแข็งด้านตลาดอาหารพร้อมทาน คือสิ่งที่จะได้เห็นความร่วมมือเร็วที่สุด เพราะ อิโตชู ต้องการเข้าไปทำตลาดสินค้านี้ในประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งในเอเชียนั่นเอง  และCP น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในอิโตชูนั่นเอง รวมทั้งอิโตชู ก็ตั้งธุรกิจในประเทศไทย มีพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น เครือสหพัฒน์ โอสถสภา และล่าสุดเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ทีวีไดเร็ค ธุรกิจ Home Shopping รายใหญ่ของไทย ก็อาจทำให้ซีพีได้ประโยชน์จากธุรกิจของอิโตชูที่เกี่ยวข้องในไทย

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบระหว่าง CP ที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในอีก 7 ปีข้างหน้า ส่วนอิโตชู จะมีอายุเก่าแก่ถึง 200 ปี ล้วนเป็นองค์กรเก่าแก่ทั้งคู่ของประเทศนั้นๆ แต่ซีพียังมียอดขายที่น้อยกว่าอิโตชู ขณะที่การจ้างพนักงาน CP มีพนักงานรวมกันทั้งไทยและทั่วโลก 280,000 คน เทียบกับอิโตชู ประมาณ 1 แสนคนเท่านั้น แสดงถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลและต้นทุนค่าแรงต่อหัวที่ใช้น้อยกว่าซีพี และก็เป็นโอกาสที่ซีพีจะได้ศึกษากลยุทธ์และร่วมมือกับอิโตชู เพื่อเป็นสปริงบอร์ดสำคัญทางธุรกิจของซีพี ที่ต้องการขยายธุรกิจในระดับโลกมากขึ้น จึงน่าสนใจไม่น้อยสำหรับกลยุทธ์ของ CP ในกรณีนี้



Source : http://www.youtube.com/watch?v=dLj9gRGOnhA
Source : http://www.itochu.co.jp/en/about/advertisement/movie/01_all.asx
Source : http://www.itochu.co.jp/en/about/advertisement/movie/02_corporate.asx
Source : http://www.itochu.co.jp/en/about/advertisement/movie/cm201305en.asx
Source : http://www.itochu.co.jp/en/about/advertisement/movie/cm201312.asx

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog