ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้ (28 มิถุนายน 2557) เป็นวันครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
วันนี้ (28 มิถุนายน 2557) เป็นวันครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กินระยะเวลากว่า 4 ปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ล้านคน
 
ผ่านมา 1 ศตวรรษเต็มๆ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงวันนี้ ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยบางเหตุการณ์ก็ถูกมองว่าอาจรุนแรงจนถึงขั้นพัฒนาไปเป็นสงครามโลกครั้งต่อไปได้เลยทีเดียว การคาดการณ์ลักษณะดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
 
28 มิถุนายน 2457 กัฟรีโล ปรินซีป นักชาตินิยมหัวรุนแรงชาวสลาวิก ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เนื่องจากต้องการเรียกร้องเอกราชให้กับภูมิภาคของชาวสลาวิก ที่ถูกออสเตรีย-ฮังการียึดครองอยู่ในขณะนั้น โศกนาฏกรรมดังกล่าวเป็นชนวนเหตุให้ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย ก่อนที่พันธมิตรของทั้ง 2 ฝั่งจะค่อยๆ ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด กลายเป็นมหาสงครามครั้งแรกที่กินระยะเวลามากกว่า 4 ปี และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 40 ล้านคน
 
28 มิถุนายน 2557 ครบรอบ 100 ปีพอดีของเหตุการณ์ที่จุดชนวนสงครามในครั้งนั้น นับเป็น 100 ปีที่โลกของเราผ่านสงครามขนาดใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และปัจจุบัน ก็ยังคงมีความขัดแย้งมากมายเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งขณะที่ชาวตะวันตกต่างวิตกกังวลกับวิกฤตในยูเครนและตะวันออกกลาง แอนดรูว์ แฮมมอนด์ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักข่าว CNN กลับมองว่า ภูมิภาคเอเชียเป็นพื้นเสี่ยงภัยที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ในอนาคตมากที่สุด
 
ความปีกกล้าขาแข็งของมหาอำนาจใหม่อย่างจีนนั้นน่าสนใจ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้อำนาจทางการเมืองมากขึ้นตามมาโดยปริยาย สังเกตได้จากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนกับกลุ่มเชื้อชาติในประเทศอย่างชาวทิเบตและอุยกูร์ ตลอดจนการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในทะเลจีนใต้กับประเทศอาเซียน ต่างทวีความรุนแรงและตึงเครียดขึ้นทุกขณะ โดยในช่วงหลังๆ มานี้ จีนเริ่มใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 
ศักยภาพมหาศาลของจีนทำให้ชนเผ่าต่างๆ ตลอดจนประเทศในอาเซียนเองไม่คิดอยากจะต่อกรกับจีนมากนัก ประเทศที่ถูกมองว่ามีโอกาสกลายเป็นศัตรูกับจีนจริงๆ ในอนาคตนั้นจึงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นสำคัญของอำนาจจากสหรัฐฯ ในตะวันออกไกล ยิ่งเมื่ออำนาจของสหรัฐฯ เองเริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอย การให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นเพื่อถ่วงดุลจีนจึงน่าจะมีมากขึ้นในอนาคต นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ไต้หวันที่มีรัฐบาลปกครองตัวเองมาเกือบศตวรรษก็มีปัญหากับจีนเรื่อยมาเรื่องอำนาจอธิปไตย และแน่นอน ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์ แฮมมอนด์ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มองว่าประวัติศาสตร์โลกไม่น่าจะซ้ำรอย แม้จะมีเหตุการณ์ที่พร้อมเป็นชนวนเหตุมากมายเกิดขึ้นได้ทั่วทุกมุมโลก เพราะปัจจัยแวดล้อมทุกวันนี้แตกต่างไปจากเมื่อ 100 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน โลกมีองค์กรอย่างสหประชาชาติที่ทำหน้าที่รักษาสันติภาพได้ดีในระดับหนึ่ง ประกอบกับการกระจายอาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มอำนาจให้กับหลายประเทศ รวมถึงการที่ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจในโลกนี้กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนที่มีเพียง 2 ขั้วใหญ่เท่านั้น 
 
และที่สำคัญที่สุด ความเสียหายที่มนุษย์ทั่วโลกจดจำจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งตลอดจนสงครามอื่นๆ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี ที่ทำให้ไม่มีชาติไหนในศตวรรษที่ 21 อยากเป็นผู้เริ่มสงครามอย่างจริงจัง เพราะเราทุกคนต่างก็ได้เรียนรู้ว่าสงครามไม่เคยให้อะไรกับใคร นอกจากความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และจิตวิญญาณ
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog