เกษตรกรบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ รอดพ้นจากปัญหาการขาดน้ำทำการเกษตร ด้วยวิธีบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปัญหาการขาดน้ำทำการเกษตร ทำให้คนในชนบทหลายครอบครัว ต้องทิ้งถิ่นฐานออกมาทำงานในเมืองใหญ่หลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่เกษตรกรบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ รอดพ้นจากปัญหานี้มาได้ ด้วยวิธีบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นางสนิท ทิพย์นางรอง เกษตรกรบ้านลิ่มทอง หรือที่คนในชุมนุมเรียกว่า "น้าน้อย" แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลาก ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
โดยเน้นการขุดคลองสายหลัก กว้าง 6-12 เมตร ลึก 2-2.5 เมตร เพื่อทำหน้าที่ผันน้ำจากลำปลายมาศ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เข้าไปยังคลองสายรองสู่แปลงเพาะปลูก รวมทั้งขุดสระที่มีความลึก 3-4 เมตร เพื่อทำเป็นแก้มลิง เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง
เมื่อมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี จากที่เคยทำนาได้ข้าว 150 กิโลกรัมต่อไร่ ทุกวันนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว และในช่วงว่างเว้นจากการทำนา ก็ยังสามารถปลูกพืชผักหมุนเวียน และพืชสวนครัว ส่งขายสร้างรายได้อีกทาง
ทุกวันนี้ชาวบ้านลิ่มทองจึงไม่จำเป็นต้องออกไปหารายได้ต่างถิ่น เด็กๆ ก็ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างอบอุ่น และคนวัยหนุ่มสาว ที่เคยเข้ามาค้าแรงงานในเมืองก็เริ่มกลับคืนถิ่นเกิด ทำให้คนในชุมนุมสามารถพึ่งพาตัวเองได้
ความมุ่งมั่นที่ต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมนุมให้ดีขึ้น ส่งผลให้ "น้าน้อย" ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาส เฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมนุม ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2554 โดยซึ่งจัดโดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เกษตรกรต้นแบบแห่งบ้านลิ่มทองคนนี้ ยังเป็นผู้อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวจิ๊บ โดยกำลังผลักดันให้ข้าวประจำถิ่นพันธุ์นี้ กลายเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยจุดเด่นด้านคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลูกและแปรรูปด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการในปีนี้เป็นปีแรก
น้าน้อยยอมรับว่า สิ่งที่กำลังทำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากไม่เริ่มลงมือ ความสำเร็จก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ในทางกลับกันการเดินหน้าทำตั้งแต่วันนี้ โอกาสความสำเร็จย่อมเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ที่เริ่มต้นด้วยอุปสรรคหลายอย่าง แต่สุดท้ายความมุ่งมั่นตั้งใจ และความสามามัคคีของคนในชุมนุม ก็ทำให้ทุกชีวิตที่บ้านลิ่มทองยืนด้วยขาของตัวเองได้