ประเทศเจ้าภาพนั้นจะออกแบบมาสคอต หรือ ตุ๊กตานำโชค เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการจดจำประเทศเจ้าภาพ และใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อผลิตสินค้าที่ระลึกออกวางจำหน่าย
เริ่มดวลแข้งกันหลายคู่แล้ว สำหรับ World Cup 2014 ศึกฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล แต่ละครั้งประเทศเจ้าภาพนั้นจะออกแบบมาสคอต หรือ ตุ๊กตานำโชค เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการจดจำประเทศเจ้าภาพ และใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อผลิตสินค้าที่ระลึกออกวางจำหน่าย หากนับตั้งแต่แข่งขันฟุตบอลโลก จากอดีตถึงปัจจุบัน รวมปีนี้เรามีมาสคอต ทั้งหมด 13 ตัว
มาสคอต ตัวแรก ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในศึกฟุตบอลโลกชื่อ "วิลลี่" เริ่มใช้ในฟุตบอลโลก 1966 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 8 วิลลี่ เป็นสิงโต สวมเสื้อลายธงยูเนี่ยนแจ็ค และปีนั้น ประเทศเจ้าภาพอย่างอังกฤษ เป็นทีมที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนั้นด้วย
มาสคอต ตัวที่ 2 ชื่อ "ฆวนนิโต้" เด็กน้อยใส่หมวก Sombrero หมวกปีกกว้าง ที่เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก เจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 1970 แต่ความหมายของ "ฆวนนิโต้ " อาจหมายถึง ดาวซัลโวที่ชื่อ "เปเล่" ที่ประกาศความเป็นราชันลูกหนังโลกของเขา ด้วยการนำพาบราซิลสู่แชมป์โลก
มาสคอต ตัวที่ 3 ชื่อ ทิป กับ แทป มาสคอตประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1974 ที่เยอรมัน ตะวันตก เป็นเจ้าภาพ มาสคอตตัวนี้พิเศษตรงที่ เป็นครั้งที่ใช้ มาสคอต 2 ตัว คือ เด็กน้อยชาวเยอรมันสองคนที่มีใบหน้าแห่งความสุข และการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่ใช้ถ้วยรางวัลที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน นั่นคือถ้วยฟีฟ่าเวิลด์คัพ สร้างสรรค์โดยประติมากรชาวอิตาลีที่ชื่อ ซิลวิโอ แกซซานิกา และแชป์ก็เป็นของเยอรมันตะวันตกอีกด้วย
มาสคอต ตัวที่ 4 ชื่อ "เกาชิโต้" มาสคอต ประจำศึกฟุตบอลโลกที่ อาร์เจนติน่า ในปี 1978 เด็กผู้ชายผูกพันคอ ถือแส้ สื่อความหมายถึง 'โคบาล' คนขี่ม้าเลี้ยงวัวตามทุ่งหญ้าในอเมริกาใต้ ซึ่งคำว่า เกาชิโต้ ก็แปลว่า เจ้าหนูโคบาล นั่นเอง และแน่นอนปีนี้เจ้าหนูเกาซิโต้ ก็เป็นตัวนำโชค ทำให้อาร์เจนติน่าความแชมป์ฟุตบอลโลกไป
มาสคอต ตัวที่ 5 ประจำฟุตบอลโลกปี 1982 คราวนี้ไม่ได้เป็นคนหรือสัตว์ แต่เป็นผลส้ม ที่ชื่อ "นารานฆิโต้" เป็นส้มวาเลนเซีย ถือลูกฟุตบอลและสวมเสื้อ 'ฟูเรียโรฆา' หรือชุดแดงเพลิงของทีมชาติสเปน
มาสคอตตัวที่ 6 ชื่อ "ปิเก้" ในศึกฟุตบอลโลก 1986 ที่มีประเทศ เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพ มาสคอตตัวนี้ เป็น พริกหยวก ฆาลาเปนโญ่ ที่มีหน้าตาดุดันมีหนวด สวมหมวกซอมเบรโร่ ทีมีชื่อเล่นน่ารักๆ ว่า ปิกันเต้ (picante) ที่แปลว่าเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน
มาสคอต ตัวที่ 7 มีชื่อว่า "เชา" มาสคอตนำโชคของเจ้าภาพ อย่างประเทศอิตาลี ปี 1990 ซึ่งคำว่า เชา แปลว่า สวัสดี ออกแบบเป็นหุ่นที่มีศรีษะเป็นลูกบอล และมีตัวเป็น สีแดง-ขาว-เขียว สีธงชาติของประเทศอิตาลี
มาสคอต ตัวที่ 8 เป็นสุนัขชื่อว่า "สไตเกอร์" ของประเทศเจ้าภาพอย่างสหรัฐอเมริกา ในปี 1994 เจ้าสไตเกอร์สวมเสื้อสี แดง-น้ำเงิน-ขาว สีของธงชาติสหรัฐ สกรีนคำว่า USA 94 ไว้ที่กลางหน้าอก และยังถูกยกให้เป็น มาสคอต ที่สวยที่สุด นับตั้งแต่มี มาสคอต ในฟุตบอลโลก
มาสคอต ตัวที่ 9 ของประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส ปี 1998 เป็นไก่ชื่อว่า ฟุตติกซ์ ใช้สีน้ำเงินทั้งตัว บนหน้าอกพิมพ์ตัวอักษรว่า "FRANCE 98″ โดยชื่อ ฟุตติกซ์ (footix) เป็นคำผสมระหว่าง ฟุตบอล กับ ix * ซึ่ง ix นั้นมาจาก แอสเตริกซ์ (Asterix) ตัวการ์ตูนชื่อดังของประเทศฝรั่งเศสนั้นเอง และเจ้าฟุตติกซ์ได้นำโชคให้ฝรั่งเศสให้ได้เเชมป์บอลโลกครั้งแรก
มาสคอตตัวที่ 10 มีถึง 3 ตัวด้วยกัน คือ อาโต้, คาซ, นิค (Ato, Kaz, Nik) ถูกใช้เป็นมาสคอตนำโชคในฟุตบอลโลก ปี 2002 ที่มีเกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ และนับเป็นครั้งแรกที่ศึกฟุตบอลโลกมาจัดการแข่งขันในทวีปเอเชีย โดยการออกแบบมาสคอตเหล่านี้ ตั้งใจให้เป็นสมาชิกในทีม "แอ็ตโม่บอล" หรือเกมฟุตบอลในอนาคต โดย อาโต้ เป็นโค้ช อีก 2 ตัวที่เหลือเป็นผู้เล่น
มาสคอตตัวที่ 11 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 ที่มีเยอรมันเป็นเจ้าภาพ ชื่อว่า "โกเลโอ เดอะ ซิกซ์ " เป็นตัวสิงโตชื่อว่า "โกเลโอ" สวมเสื้อทีมชาติเยอรมันหมายเลข 06 และมาพร้อมกับลูกบอลพูดได้ชื่อว่า ปิลเล่ ซึ่งเป็นคำแสลงที่แปลว่า ฟุตบอล ขณะที่ชื่อ โกเลโอ คือคำผสมระหว่าง โกล (Goal) กับ เลโอ (Leo) หรือ สิงโตในภาษาละติน
มาสคอตตัวที่ 12 ที่แอฟริกาใต้ใช้เป็นสัตว์นำโชค ในปี 2010 คือ เสือดาวที่ชื่อว่า "ซาคูมิ" เสือดาวสีเหลือง ซึ่งคำว่า ซาคูมิ มีความหมายในภาษาท้องถิ่นว่า ยินดีต้อนรับ แต่เมื่อแยกคำออกมาจะได้คำว่า ซา (ZA) หมายถึงรหัสประเทศแอฟริกาใต้ คูมิ (Kumi) คือเลข 10 ในภาษาถิ่นของหลายชนเผ่าในประเทศ ซึ่งมีนัยถึงฟุตบอลโลก ที่แอฟริกาใต้ 2010 อีกด้วย
และล่าสุดปี 2014 บราซิลประเทศเจ้าภาพเลือกใช้ "ตัวนิ่ม" เป็น มาสคอต มีชื่อว่า "ฟูเลโก้" เป็นศัพท์ในภาษาโปรตุเกสที่มีความหมายว่า "futebol" (football = ฟุตบอล) และ ecologia (ecology = ระบบนิเวศน์) โดยทางฟีฟ่าเชื่อว่าการใช้สองคำที่นำมาผสมกัน เพื่อให้แฟนบอล ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน ซึ่ง"ฟูเลโก้"ได้รับคะแนนโหวตเกินกว่าครึ่งจากทั้งหมด 1 ล้าน 7 แสนโหวต
และที่ขาดไม่ได้อีกอย่าง คือ "โลโก้ประจำการแข่งขัน" ในปีนี้ มีชื่อว่า อิงส์ปีราเซา ซึ่งแปลว่า "แรงบันดาลใจ" ออกแบบโดยบริษัทอาฟรีกา จากประเทศบราซิล คิดค้นมาจากภาพถ่ายเชิงสัญลักษณ์ของมือผู้ชนะ 3 มือ กำลังชูถ้วยรางวัลฟุตบอลโลกอยู่ ลักษณะรูปแบบของมือที่เชื่อมต่อกันยังแสดงออกถึงความคิดของผู้มีมนุษย์ธรรม การวาดมือโดยใช้สีเหลืองและเขียวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความมีไมตรีจิตของประเทศเจ้าภาพในการต้อนรับชาวโลกที่จะมุ่งหน้ามาที่บราซิล สัญลักษณ์นี้ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบอกถึงที่มาของการออกแบบโลโก้การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่ก็ได้มีการล้อเลียนว่า แท้จริงแล้ว มือ 3 มือที่โอบอุ้มลูกฟุตบอลไว้นั้น เป็นมือที่ปิดบังหน้าตาของเด็กน้อยในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปอยู่ เป็นการล้อเลียนขำๆ
สินค้าที่ระลึก ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นเหรียญที่ระลึก โดยพบว่าในจีน นิยมซื้อเหรียญที่ระลึกมาก เพราะจีน ถือเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ที่ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่า ให้ผลิตเหรียญดังกล่าวได้