กรมป่าไม้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าสำรวจสภาพพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต
กรมป่าไม้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าสำรวจสภาพพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต ที่มีความแม่นยำมากถึงร้อยละ 97.56 และบันทึกภาพครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 94 ของประเทศ
แม้ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย จะถูกทำลายลงจำนวนมาก แต่การนำเสนข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนพื้นที่ป่าไม้ ส่วนใหญ่ยังมีความคาดเคลื่อน จึงทำให้ กรมป่าไม้ ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่า ปี 2555-2556 ภายใต้แนวคิด "ความหวัง ทางรอดของป่าไม้" เพื่อประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ โดยใช้การแปลและตีความจากภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต และแลนด์แซต 8 ที่ถือเป็นวิธีจัดการข้อมูลขึ้นใหม่ ที่มีความแม่นยำและถูกต้อง ในการจำแนกพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ97.56
ซึ่งดาวเทียมไทยโชต สามารถบันทึกภาพพื้นที่ได้ครอบคลุมร้อยละ 94 ของประเทศ และมีจุดตรวจสอบภาคสนามทั้งสิ้น 862 จุด กระจายในทุกภูมิภาค
จากการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2555-2556 ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมไทย พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 102.1 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ เมื่อเทียบระหว่างพื้นที่ป่าในแต่ละภูมิภาคกับพื้นที่รวมของภูมิภาคนั้นๆ พบว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ป่ามากที่สุดร้อยละ 65.31 รองลงมาคือภาคตะวันตกร้อยละ 53.08 ภาคใต้ร้อยละ 23.95 ภาคตะวันออกร้อยละ 22.02 ภาคกลางร้อยละ 20.92 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 15.09
ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด 5 อันดับ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนร้อยละ 86.89 จังหวัดตากร้อยละ 72.03 จังหวัดลำปางร้อยละ70.81 จังหวัดเชียงใหม่ร้อยละ 69.49 และจังหวัดกาญจนบุรีร้อยละ 62.51