เราจะไปร่วมหาคำตอบกันว่า สาเหตุของเหมืองระเบิดนั้น เกิดจากปัจจัยใดได้บ้าง และคนงานเหมืองที่ทำงานอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน มีวิธีการอย่างไร ในการป้องกันเหตุระเบิด ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เหมืองระเบิดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในหลายประเทศ ที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิดนั้น ก็แตกต่างกันออกไป แต่โดยมากแล้ว จะหนีไม่ะพ้น 2 สาเหตุหลัก นั่นก็คือ การระเบิดจากก๊าซมีเทน และการระเบิดจากฝุ่นถ่านหิน
ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีสี แต่สามารถติดไฟได้อย่างรวดเร็ว พบมากในชั้นถ่านหิน โดยเกิดจากกระบวนการเกิดถ่านหินทำให้ก๊าซสะสมตัวและกักเก็บอยู่ในช่องว่างในเนื้อถ่านหิน ซึ่งในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินนั้น คนงานเหมืองทั้งหลายต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมา เพราะเมื่อก๊าซนี้มาสัมผัสกับออกซิเจน ก็จะเกิดประกายไฟได้โดยง่าย
โดยปกติแล้ว หากก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมาผสมกับอากาศภายนอก เพียงแค่ร้อยละ 5-15 ก็จะทำให้เกิดการระเบิดในเหมืองได้โดยง่าย แต่ระดับที่พอเหมาะที่สุดสำหรับการเกิดระเบิดก็คือร้อยละ 9.5 ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตรายที่สุด ที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการรวมตัวของออกซิเจนกับก๊าซมีเทน ซึ่งหากเกิดปฏิกิริยาในลักษณะนี้แล้ว แม้ว่าอุณหภูมิภายในเหมืองจะไม่สูงมาก แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการระเบิด และการระเบิดดังกล่าว จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ความร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดของก๊าซมีเทนที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ภายในอุโมงค์ที่มีการขุดเจาะเหมืองแร่ จะมีการระบายอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงจนเกินไป ซึ่งหากว่ามีลมร้อนเกิดขึ้นภายในเมือง และไม่ได้รับการระบายออกไป ก็จะทำให้แรงดันในอากาศเพิ่มสูงตามไปด้วย จนเกิดเป็น shock wave ที่นำไปสู่การรั่วไหลของก๊าซมีเทน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายระบุว่า การระบายอากาศ และการควบคุมระดับก๊าซมีเทนในเหมือง ไม่ให้เกินร้อยละ 1 ถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันเหตุระเบิดที่อาจเกิดขึ้นได้
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่เหตุระเบิดในเหมือง ก็คือ "ระเบิดฝุ่น" ซึ่งฝุ่นที่เกิดจากถ่านหินนั้น มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย และโดยทั่วไป ฝุ่นจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และทำให้เหตุระเบิดในเหมืองแร่นั้น รุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหลังจากเกิดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน ในระดับที่มากพอจะก่อให้เกิดระเบิดได้แล้วนั้น หากปฏิกิริยาดังกล่าว ถูกกระตุ้นโดยฝุ่นปริมาณมาก ที่ลอยอยู่ในอุโมงค์ของเหมืองแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เหตุระเบิดรุนแรง และกินพื้นที่มากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่เป็นคนงานเหมืองนั้น ต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงมากมาย และแม้ว่าพวกเขาจะรู้ทางหนีทีไล่ และมีประสบการณ์ในการทำอาชีพดังกล่าวมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น การหลบหนีจากเหตุระเบิดหรือแก๊สพิษที่เกิดจากการระเบิด อาจเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะพื้นที่ที่พวกเขาทำงานอยู่นั้น มีทางเข้าออกเพียงไม่กี่ทาง แถมยังเป็นพื้นที่ใต้ดิน ที่ไม่ต่างอะไรกับสุสานขนาดใหญ่ ที่อาจจะกลายเป็นที่ฝังร่างของพวกเขาหลังจากเสียชีวิต