ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยุโรปออกคำตัดสินที่กลายเป็นบรรทัดฐานของการรับรอง "สิทธิที่จะถูกลืม" ในโลกอินเทอร์เน็ต
ศาลยุโรปออกคำตัดสินที่กลายเป็นบรรทัดฐานของการรับรอง "สิทธิที่จะถูกลืม" ในโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการสั่งให้กูเกิลต้องลบข้อมูลบางอย่างออกจากระบบการค้นหาตามที่ผู้ใช้เรียกร้อง หากข้อมูลดังกล่าวละเมิดสิทธิ์ของประชาชน
 
เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศลักเซมเบิร์ก เพิ่งออกคำวินิจฉัยในคดีที่นายมาริโอ กอสเตฆา กอนซาเลส ชายชาวสเปน ยื่นฟ้องร้องว่าเขาถูกกูเกิล เสิร์ชเอนจินชื่อดังของโลก ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากหากพิมพ์ชื่อเขาลงในระบบค้นหาของกูเกิล ก็จะปรากฏลิงก์ที่นายกอนซาเลสต้องขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้หนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
 
เขากล่าวว่าเหตุการณ์นั้นจบลงไปนานแล้ว และในปัจจุบันตนเองก็มีสินทรัพย์มั่นคง การที่คนทั่วไปยังสามารถสืบค้นไปถึงเรื่องราวเมื่อ 16 ปีก่อนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถานภาพทางการเงินในปัจจุบันของเขาได้ จึงกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนตัวอย่างร้ายแรง นายกอนซาเลสจึงตัดสินใจฟ้องร้องให้ศาลสั่งให้กูเกิลลบลิงก์ดังกล่าว
 
ศาลสูงสุดสหภาพยุโรปตัดสินว่า กูเกิลจะต้องลบลิงก์ข้อมูลใดๆ ที่ถูกตัดสิน หรือถูกร้องเรียนว่าไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของการค้นหา เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิที่จะถูกลืมบนโลกอินเทอร์เน็ต
 
กูเกิลพยายามต่อสู้คดีโดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทไม่ได้เป็นผู้ควบคุมข้อมูล เพียงแต่เป็นช่องทางที่นำไปสู่ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต และการขอให้บริษัทลบลิงก์ต่างๆ ก็เทียบได้กับการเซ็นเซอร์ ซึ่งถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกชนิดหนึ่ง แต่ศาลไม่รับฟังเหตุผลดังกล่าว และยืนยันว่าข้อมูลส่วนตัวของบุคคล ที่ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าตัวว่า "ล้าสมัย" หรือ "ไม่เกี่ยวข้อง" กับตนเองอีกต่อไปจะต้องถูกลบออกจากระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป
 
ทั้งนี้ ปัญหาการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล และการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในสหรัฐฯและยุโรป หลังจากมีการเปิดเผยโครงข่ายการลักลอบเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของรัฐบาลสหรัฐฯโดยนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog