เราไปทำความรู้จัก แอพพลิเคชั่น Ask.fm การสนทนาด้วยการ “ตั้งคำถาม” และตอบคำถาม ด้วยตัวอักษรไม่เกิน 300 ตัว
หลายคนอาจจะกำลังใช้แอพพลิเคชั่น Ask.fm การสนทนาด้วยการ "ตั้งคำถาม" และตอบคำถาม ด้วยตัวอักษรไม่เกิน 300 ตัว และไฮไลต์คือ "การไม่ระบุชื่อคนถาม" เราไปทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นยอดฮิตนี้
แอพพลิเคชั่น Ask.fm เป็นแพลตฟอร์มของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่สามารถเข้าได้ทั้งทางเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น โดยล็อกอินผ่านทาง facebook สามารถสนทนากันในกลุ่มเพื่อน หรือคนที่เราต้องการติดตามได้ตามใจชอบ โดยเป็นการสนทนาด้วยการ "ตั้งคำถาม" ด้วยจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 300 ตัว ส่วนคำตอบ สามารถตอบได้ทั้งตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ มีจุดเด่นคือ เราสามารถถามคำถามคนอื่นโดยที่ไม่ต้องแสดงตัว และ เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครเป็นคนถามเรา สะท้อนถึงการมีตัวตนในโลกสมมุติ รวมทั้งคำถามและคำตอบแปลกๆ และเราสามารถแชร์คำตอบบนโซเชียลเน็ตเวิร์คให้คนอื่นๆเห็นได้ ทำให้เกิดเป็นกระแสฮิตในโลกออนไลน์ขณะนี้
Ask.fm ไม่ได้ใช้เฉพาะบุคคลเท่านั้น บุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีแฟนคลับ รวมทั้งค่าเพลง genie records ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ก็ใช้สื่อสารกับแฟนคลับและส่งข่าวสารได้อีกด้วย แต่ก็มีการแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่นกัน
วิธีการใช้ ไปที่หน้าโปรไฟล์ของคนที่เราต้องการจะถาม จากนั้นกด Ask me question หากคำถามและคำตอบมีคนชื่นชอบ ก็จะมีคนมากดไลค์ให้เรา โดยแถบด้านบนจะเป็นตัวแจ้งเตือน ใครมากดไลค์จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปหัวใจ หากมีคำถามมาจะแจ้งเตือนตรงเครื่องหมายคำถาม และถ้ามีคนตอบคำถามเราจะแจ้งเตือนที่ช่องลูกศร
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น Ask.fm ไม่ใช่เพิ่งเปิดตัว แต่เปิดตัวตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2010 หรือกว่า 4 ปี มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศลัตเวีย (Latvia) โดย CEO มีนามว่า Ilja Terebin เดิมเป็นเพียงเว็บไซต์ใช้สนทนาเหมือนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก่อนที่เดือนธันวาคม 2011 ได้ปล่อยฟีเจอร์การไม่เปิดเผยตัวตนผู้ถามออกมา ทำให้ Ask.fm เป็นที่นิยม และในเดือนมิถุนายน 2013 ก็ได้ปล่อยแอพพลิเคชั่นทั้งใน iOS และแอนดรอยด์ออกมา ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 112 ล้านคนทั่วโลก มีภาษาท้องถิ่นไว้รองรับถึง 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย และมีจำนวนคำถามและคำตอบมากกว่า 30 ล้านครั้งต่อวัน
การที่ Ask.fm ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ถือเป็นความใหม่ของแอพพลิเคชั่น และมีฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ในตลาด ทำให้คนในโลกออนไลน์ อยากลอง อยากเล่น และแชร์กันต่อไปบนโลกออนไลน์ เหมือน Snapchat ก่อนหน้านี้ และเป็นกรณีศึกษา Start up หน้าใหม่ด้านไอทีอีกด้วย