ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์เรือล่มครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นห่างกันไม่กี่ปี อย่างเหตุเรือโดยสารโซวอลของเกาหลีใต้ และเรือสำราญกอสตา กองกอร์เดียของอิตาลีอับปาง สะท้อนภาพชัดของกัปตันที่ขาดความรับผิดชอบ

เหตุการณ์เรือล่มครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นห่างกันไม่กี่ปี อย่างเหตุเรือโดยสารโซวอลของเกาหลีใต้ และเรือสำราญกอสตา กองกอร์เดียของอิตาลีอับปาง สะท้อนภาพชัดของกัปตันที่ขาดความรับผิดชอบ เนื่องจากกัปตันทั้งสองคน ละทิ้งเรือ ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารได้ทั้งหมด ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า จรรยาบรรณของอาชีพกัปตันเรือคืออะไรกันแน่



เมื่อเรือรบ HMS Birkenhead จมลงนอกชายฝั่งของแอฟริกาใต้เมื่อปี 2395 กัปตันของเรือลำนี้ ได้สั่งการให้ผู้หญิงและเด็กที่โดยสารมากับเรือ ลงไปในเรือชูชีพก่อน โดยเขาและลูกเรือที่เป็นทหารคนอื่นๆได้ช่วยกันลำเลียงผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิงและเด็กอย่างสุดความสามารถ และเฝ้าสังเกตการณ์จนถึงช่วงนาทีสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครติดค้างอยู่บนเรือแล้ว การกระทำดังกล่าวได้กลายเป็นมาเป็นต้นแบบของข้อบังคับในกฎหมายความปลอดภัยด้านการเดินเรือสากลในยุคสมัยใหม่ ที่กำหนดให้กัปตันและลูกเรือต้องให้การช่วยเหลือผู้โดยสาร หลังจากที่เรือล่ม และต้องลำเลียงผู้โดยสารมายังเรือชูชีพภายในเวลา 30 นาทีถ้าเป็นไปได้

ซึ่งกรณีที่กัปตันได้อยู่ช่วยผู้โดยสารทุกคนจนช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่มีหลายคนพูดถึงเป็นอย่างมาก ก็คือกรณีของกัปตันเอ็ดเวิร์ด เจ.สมิธ กัปตันเรือไททานิกอันเลื่องชื่อนั่นเอง

แต่สำหรับกรณีเรือล่มครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้น 2 ครั้งล่าสุด นั่นก็คือกรณีเรือโดยสารเซวอลของเกาหลีใต้ ล่มนอกชายฝั่งของเกาะจินโด และเรือสำราญกอสตา กองกอร์เดียล่ม นอกชายฝั่งของเกาะจิลโญ่ ประเทศอิตาลี ดูเหมือนว่า กัปตันผู้ควบคุมเรือทั้งสอง จะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎการเดินเรือสากลดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกัปตันอี จุน ซอก ของเรือเซวอล ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาเป็นคนแรกๆก่อนที่เรือจะจมลงทั้งหมด

ขณะที่ กรณีของเรือกอสตาร์ กองกอร์เดียนั้น กัปตันฟรานเชสโก เชตติโน ก็กระโดดลงเรือชูชีพ ทั้งๆที่ยังมีผู้โดยสารอีกนับร้อยที่ติดอยู่บนเรือ หลังจากที่เรือประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับหินโสโครกและล่มลง โดยกัปตันเชตติโนอ้างว่า เขาตกลงมาในเรือชูชีพ เนื่องจากเรือสำราญกอสตา กองกอร์เดียนั้นเอียงมากแล้ว ทำให้เขาพลาดตกลงมา อีกทั้ง การขึ้นมาบัญชาการเรื่องการขนย้ายผู้โดยสารบนบก อาจทำได้ง่ายกว่าการอยู่บนเรือที่กำลังจะจม

ตัวอย่างของสองกรณีหลังนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อเรือกำลังจะล่ม เหตุใดกัปตันจึงไม่อยู่บนเรือ เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารทั้งหมดก่อน ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะสงสัยว่า ท้ายที่สุดแล้ว กัปตันควรจมลงไปพร้อมกับเรือเลยหรือไม่ เพราะหากรอให้ความช่วยเหลือจนทุกคนปลอดภัย ตัวกัปตันเองอาจจะต้องสังเวยชีวิตก็เป็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กัปตันไม่จำเป็นต้องอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพียงแค่ให้การช่วยเหลือจนมั่นใจว่าผู้โดยสารปลอดภัยทั้งหมด เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกัปตัน ดังนั้น การสละเรือก่อนเวลาอันควรจึงไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

โดยบางประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้และอิตาลี ออกกฎหมายระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า การสละเรือของกัปตันหลังจากที่เรือล่ม ถือเป็นคดีอาชญากรรม และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ นางสาวพักกึนเฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กัปตันและลูกเรือของเรือเซวอลนั้น เป็นฆาตกร ที่ปล่อยให้ผู้โดยสารจำนวนมากต้องสังเวยชีวิต

และคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบแล้ว ก็ยังมีเรื่องของภาวะผู้นำ และการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งทั้งสองคุณลักษณะนี้ ไม่ปรากฏในกัปตันผู้ควบคุมเรือเซวอล และเรือสำราญกอสตา กองกอร์เดียแม้แต่น้อย เหตุโศกนาฏกรรมทางน้ำทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงมาตรฐานทางวิชาชีพ และจรรยาบรรณที่กัปตันเรือพึงมี เพราะหากกัปตันของเรือทั้งสอง มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว อัตราการสูญเสียจากเหตุการณ์เรือล่ม อาจลดน้อยลงก็เป็นได้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog