ไม่พบผลการค้นหา
ทีเคพาร์ค ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสถิติใหม่ ที่พบว่า คนไทยร้อยละ 80 อ่านหนังสือวันละ 37 นาที
ทีเคพาร์ค ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสถิติใหม่ ที่พบว่า คนไทยร้อยละ 80 อ่านหนังสือวันละ 37 นาที
 
คำพูดที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดถูกผลิตซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อตอกย้ำพฤติกรรมการอ่านของคนไทย  ล่าสุด ทีเคพาร์ค ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสถิติใหม่ ที่พบว่า คนไทยร้อยละ 80 อ่านหนังสือวันละ 37 นาที  แต่สถิติการอ่านไม่สำคัญเท่ากับการที่ หลายฝ่ายช่วยกันระดมความเห็นว่า ทำอย่างไรให้คนไทยสนใจการอ่านมากขึ้น
 
37 นาที คือ เวลาที่คนไทยร้อยละ 81.1 หรือกว่า 50 ล้านคน หมดไปกับการอ่านหนังสือในแต่ละวัน นี่คือผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค  หากเทียบกับสถิติการอ่านของไทย ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อมวลชนและการพูดปากต่อปาก ที่ว่า "คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด" นั่นหมายความว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือบรรทัดละ 1688.125 นาที
 
ทุก 2 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทำการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของสังคมไทย จากประชากรกลุ่มตัวอย่างกว่า 5 หมื่นครอบครัว ภายใต้นิยาม การอ่าน คือ การอ่านหนังสือทุกประเภทนอกเวลาเรียน หรือเวลาทำงาน รวมทั้งอ่านในช่วงเวลาพัก  โดยการอ่านหนังสือในที่นี้ รวมการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน โดยไม่นับการอ่านข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แอพพลิเคชั่นแชท และอีเมล
 
ล่าสุด ได้ทำการสำรวจ ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค เมื่อปี 2556 ตั้งแต่ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป พบข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น วัยเด็ก 8 ถึง 14 เป็นประชากรที่อ่านหนังสือมากที่สุด ขณะที่วัยรุ่นอายุ 15 ถึง 24 ปี ใช้เวลาอ่านต่อวันมากที่สุด วันละ 50 นาที
 
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไม่อ่านหนังสือ ได้แก่ ชอบดูโทรทัศน์มากกว่า หรือ อ่านหนังสือไม่ออก และ ไม่มีเวลาอ่าน สายตาสั้น ไม่ชอบอ่านหนังสือ
 
ขณะการรณรงค์รักอ่านการอ่านหนังสือ รวมทั้งการเชิญชวนของบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่มีผลต่อการอ่านโดยตรงเท่าตัวผู้อ่านสนใจการอ่านด้วยตัวเอง หรือมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ส่งเสริม
 
โดยหนังสือพิมพ์ครองอันดับ 1 สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีคนอ่านมากที่สุด ตามด้วยวารสารและหนังสือที่ให้ความรู้ อย่างไรก็ตาม แม้สื่อสิ่งพิมพ์ ยังครองความนิยมในกลุ่มนักอ่าน แต่ผลการสำรวจพบว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนอ่านหนังสือมากขึ้น 6 เท่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
 
บ้าน สถานที่เอกชน สถานที่ทำงาน คือ 3 อันดับสถานที่ยอดนิยมของคนรักการอ่าน แต่กลายเป็นว่าห้องสมุดประชาชน คือ ที่ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด ร้อยละ 1.6 นั่นหมายความว่า ห้องสมุดที่เข้าถึงประชาชนทุกอำเภอ ทั่วประเทศ ไม่สามารถสร้างดึงดูดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้  ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ ทีเคพาร์ก บอกว่า ห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป ทั้งการสร้างบรรยากาศที่ดึงดูด รวมทั้งการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
 
สถิติการอ่านของคนไทย จึงน่าสนใจมากกว่ามิติด้านปริมาณ เพื่อตอกย้ำพฤติกรรมการอ่านของคนในชาติ หากรายละเอียดที่มากกว่า บอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างสังคมของการอ่านที่แท้จริง
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog