ไม่พบผลการค้นหา
การที่หน่วยงานของไทย เตรียมฟ้องร้องสิงคโปร์เรื่องการขโมยประเพณีสงกรานต์ ไปจัดเองอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 12-13 เมษายนนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่าสุดท้ายแล้ว ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของวัฒนธรรมใดวัฒนธ
การที่หน่วยงานของไทย เตรียมฟ้องร้องสิงคโปร์เรื่องการขโมยประเพณีสงกรานต์ ไปจัดเองอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 12-13 เมษายนนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่าสุดท้ายแล้ว ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งได้จริงหรือไม่ และการเดินหน้าฟ้องร้องเรื่องนี้ เหมาะสมตามข้อกฎหมายมากน้อยเพียงใด 
 
อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทศกาลของปี ที่คนไทยให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ชาวไทยจะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ ด้วยการเดินทางไปเข้าวัดทำบุญ และสาดน้ำเล่นกันอย่างสนุกสนานเพื่อเป็นการคลายร้อน ซึ่งการสาดน้ำดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะเป็นไฮไลท์สำคัญของเทศกาลสงกรานต์ โดยในแต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากมาเข้าร่วมเทศกาลนี้ และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยมหาศาล
 
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า เทศกาลดังกล่าว จะโด่งดังจนถึงขนาดที่สิงคโปร์ เตรียมที่จะจัดตามบ้าง ในวันที่ 12-13 เมษายนนี้ พร้อมกับคุยว่า จะเป็นการจัดเทศกาลสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เคยจัดขึ้นนอกประเทศไทย จนเกิดเป็นกระแสดราม่าทั่วโลกอออนไลน์ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า การจัดเทศกาลดังกล่าว เป็นการขโมยวัฒนธรรมไทยไปแบบดื้อๆ และสืบเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของไทยหลายอย่าง ที่อาจทำให้ในปีนี้ นักท่องเที่ยว เปลี่ยนใจไปเที่ยวสงกรานต์ที่ประเทศสิงคโปร์แทน ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่า การจัดเทศกาลแบบนี้ในต่างประเทศ จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้กำลังจะกลายเป็นประเด็นที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต เมื่อล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมเดินหน้าปรึกษาเรื่องข้อกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อดูว่ามีช่องทางใดที่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้จัดเทศกาลดังกล่าวที่สิงคโปร์ได้บ้าง ซึ่งหากว่าข้อกฎหมายเอื้ออำนวย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็จะเดินหน้าในเรื่องนี้ทันที เพื่อป้องกันมิให้ประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ จัดงานที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ที่มีพื้นฐานมาจากศิลปะวัฒนธรรมของไทย เช่น เทศกาลสงกรานต์ และลอยกระทง
 
การดำเนินการตามข้อกฎหมายดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ที่มองว่า การจัดเทศกาลสงกรานต์ที่สิงคโปร์ จะเป็นการลดทอนคุณค่าของการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ไทย และเทศกาลสงกรานต์ ไม่ใช่แค่เพียงการสาดน้ำใส่กันอย่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย แต่สิ่งที่สิงคโปร์พยายามทำอยู่นั้น เป็นแค่การประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยว และดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยที่ไม่ได้สนใจคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังเทศกาลนี้แต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม การออกมาขู่ว่าจะฟ้องร้องในเรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดข้อกังขาในแวดวงนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ที่มองว่า หากหน่วยงานของไทย จะฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวจริง จะฟ้องร้องที่ไหน และใครจะรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินคดี และถึงแม้ว่าไทยจะกล่าวอ้างเรื่องที่ว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ควรจะต้องสืบสานและรักษาเอาไว้ ก็จะเกิดคำถามตามมาอีกว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างดีแค่ไหน กล่าวโดยสรุป หลายฝ่ายมองว่า ไทยไม่สามารถครอบครองวัฒนธรรมหรือประเพณีใดประเพณีหนึ่งไว้เพียงลำพังได้ แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม
 
และการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้ใครบิดเบือนคุณค่าของการเแลิมฉลองเนื่องในเทศกาลสงกรานต์นั้น ก็เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก อีกทั้ง เทศกาลดังกล่าว ก็เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองกันเป็นการทั่วไปในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน รวมไปถึงทางตอนใต้ของจีน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเทศไทยก็รับเทศกาลของประเทศอื่นๆมาเฉลิมฉลองเช่นเดียวกัน และที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีชาติใด ที่พยายามจะฟ้องร้องประเทศไทย ในฐานะที่เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสเป็นประจำทุกปี
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog