ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2-3 วันที่ 8-9 ม.ค. นี้ ถก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 กมธ. ปรับลด 1.6 หมื่นล้านบาท ก.กลาโหมถูกตัดงบสูงสุด 125 ล้านบาท ด้าน ครม. แปรญัตติเพิ่ม 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มงบองค์กรอิสระและกองทุนประกันสังคม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 - 9 มกราคมนี้ จะมีขึ้นตั้งแต่เวลา 9.30 น. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จำนวน 55 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้พิจารณาพร้อมจัดทำรายงานเสนอข้อสังเกตต่อการจัดสรรงบประมาณในภาพรวมและรายกระทรวงเสร็จสิ้นเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของปี 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จากวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ลดงบลงไปทั้งสิ้น 16,231 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ถูกกรรมาธิการฯ ปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

1.กระทรวงกลาโหม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,518,272,500 บาท จาก 125,918,522,500 บาท เหลือ 124,400,250,000 บาท

2.กระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดงบประมาณ 1,318,310,800 บาท จาก 28,049,048,300 บาท เหลือ 26,730,737,500

3. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,147,479,100 บาท จาก 49,037,823,700 บาท เหลือ 47,890,344,600 บาท

ทั้งนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2-3 นั้น มีกรรมาธิการฯ สงวนความเห็น 25 คน และมี ส.ส.สงวนความเห็น 146 คน

แนะกลาโหมเน้นคุณภาพกว่าปริมาณ

ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมว่า ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้คัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล

หนึ่งในนั้นคือกระทรวงกลาโหม โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความคิดเห็นต่อการจัดทำงบประมาณของกระทรวงกลาโหมไว้ 9 ประการ ดังนี้

1. กระทรวงกลาโหม ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิการของทหารผ่านศึกและครอบครัวและทหารนอกประจำการที่รับการสงเคราะห์ทุกประเภท ตามสิทธิ์ที่ได้รับตามกฎหมาย

2. กระทรวงกลาโหม ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีการรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร ทำให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ภัยคุกคามทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อยกระดับกองทัพให้มีสมรรถนะสูง (Smart Troops)

3. กระทรวงกลาโหม ควรกำหนดภารกิจด้านการปกป้องสถาบันหลักของชาติและเสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นภารกิจประจำของกระทรวงกลาโหม

4. ที่ผ่านมากองบัญชาการกองทัพไทยให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาสาธารณภัยมาโดยตลอด ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยควรสนับสนุนภารกิจด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเชิงบูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลัก

5. กองบัญชาการกองทัพไทย ควรปรับปรุงหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเศรษฐกิจที่เน้นความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหลัก

6. กองทัพอากาศ ควรทำหน้าที่ในการกำกับและกำหนดมาตรการควบคุมการใช้อากาศยานไร้คนขับให้ครอบคลุม โดยคำนึงถึงทั้งทางด้านความมั่นคงและสิทธิของประชาชน

7. การตั้งงบประมาณของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยเฉพาะด้านการวิจัยควรสอดคล้องกับความต้องการของกองทัพว่าต้องการให้สถาบันฯ วิจัยเรื่องใด เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณและมีการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตรงกับความต้องการของทุกเหล่าทัพ

8. ในคำขอรับงบประมาณเพื่อดำเนินภารกิจในโครงการที่เป็นประเด็นความอ่อนไหวทางสังคม ควรเป็นชื่อโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดความเห็นต่างและความขัดแย้งภายในสังคม

และ 9. กรณีการตั้งของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณค่อนข้างสูง ควรจัดซื้อเพื่อความจำเป็นต่อภารกิจอย่างแท้จริง โดยต้องสามารถชี้แจงแสดงเหตุผลทำความเข้าใจต่อประชาชนได้

ด้านนายชัยชนะ เดชเดโช โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้เสนอให้ ครม. รับทราบการแปรญัตติเพิ่ม 26,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าครอบคลุมวงเงินที่ถูกตัดงบประมาณไป 16,231 ล้านบาทก่อนหน้านี้ โดยแบ่งให้หน่วยงานต่างๆ ดังนี้คือ งบประมาณฝึกอบรมและสัมนาทั้งในและต่างประเทศ 9,000 ล้านบาท งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์สิ่งก่อสร้างและที่ดินฯ 7,000 ล้านบาท กองทุนประกันสังคม 11,000 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 1,900 ล้านบาท หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ 9 หน่วยงาน 3,217 ล้านบาท สำนักงานสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานวุฒิสภา 1,312 ล้านบาท ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและศาลยุติธรรม 949 ล้านบาท องค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 800 ล้านบาท และกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 100 ล้านบาท

ในขณะที่งบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมถูกตัดไป 1,900 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะนัดประชุม ในวันที่ 7 มกราคม 2563 เวลา 13.00 น. เพื่อเตรียมชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 - 9 มกราคม 2563 ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในวาระที่ 3 อย่างช้าไม่เกินวันที่ 10 มกราคม 2563

เพื่อไทยเล็งตัดงบฯ 10-15%

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในส่วนของกรรมาธิการฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทยหลายคนขอสงวนความเห็นในฐานะกรรมาธิการฯ เพื่อนำไปอภิปรายวาระ 2-3 ในภาพรวม โดยจะขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ลง 10-15% แต่จะไม่ปรับลดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมวดของสถาบัน เนื่องจากเห็นว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 กว่าจะผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากวุฒิสภา และรอดูจะมีผู้ร้องว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือน ก.พ. หรือต้น มี.ค. 2563 เท่ากับมีระยะเวลาการใช้งบประมาณเหลือแค่ 7 เดือน จึงไม่สมควรตั้งงบไว้ตามปกติ จะต้องปรับลดงบลงมาตามระยะเวลาการใช้งบประมาณที่ลดลง

ในส่วนของตนจะขอสงวนความเห็นตัดลดงบประมาณในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจาก 96,000 ล้านบาท เหลือ 56,000 ล้านบาท ตัดงบไปทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท เนื่องจากเหลือระยะเวลาการใช้งบรายจ่ายปี 2563 แค่ 7 เดือน จึงไม่ควรตั้งงบไว้เต็มจำนวนที่ 9.6 หมื่นล้านบาท