ไม่พบผลการค้นหา
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของ 'คนบันเทิง' กลายเป็น 'ประเด็นอ่อนไหว' ในสังคมไทย เพราะความมีชื่อเสียงทำให้สิ่งที่พูดสื่อไปไกลกว่า จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกตอบโต้หนัก แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย คนในฮอลลีวูดก็เจอหนักเช่นกัน แต่บางคนยังยึดมั่นใน 'จุดยืน' ของตัวเอง

คนบันเทิงเป็นกลุ่มคนที่สามารถสื่อสารเรื่องราวได้ดัง ได้ไกลเป็นวงกว้าง เมื่อพวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม รวมทั้งแสดงความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้เสี่ยงที่จะโดนโต้กลับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ รวมถึงความเห็นในด้านต่างๆ ก็จะตามมาอย่างมากมาย

กรณี นายยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ด นักจัดงานแสดงดนตรีและพิธีกร ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กรับสมัครงาน โดยระบุคุณสมบัติสำคัญ ต้องไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการและดูถูกสติปัญญาของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดกระแสตอบโต้ มีทั้งผู้ที่เห็นต่างและเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว

แม้หลายครั้ง 'ป๋าเต็ด' จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมือง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะมีผลกระทบกลับไปค่อนข้างแรง จนต้องขึ้นข้อความต่อมาในเฟซบุ๊ก ว่า

"มารยาทง่ายๆ อย่างหนึ่งของการเล่น facebook ในภาวะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนี้ ขอให้ยึดคติ บ้านใคร บ้านมัน คิดต่างกับเขาก็เก็บไว้ไปโพสต์ที่บ้านของเรา ถ้าไปแย้งในโพสต์ของเขา ก็เหมือนเดินเข้าไปตะโกนด่าเขาในบ้านเขาใครเขาจะรับได้ ปล่อยผ่านๆไปบ้าง แล้วค่อยกลับไปบ่นที่บ้านตัวเอง ทนไม่ได้ ก็ไม่ควรเล่น facebook ควรไปเล่น PUBG"

ไม่เท่านั้น ป๋าเต็ด ยังได้นำคำคมของนักแสดงฮอลีวูด มาโพสต์ที่เฟซบุ๊กส่วนตัว

“เราเลิกอธิบายความเป็นตัวเราเมื่อเราได้รู้ว่า ผู้คนจะเข้าใจเราตามความสามารถในการทำความเข้าใจของเขาเท่านั้นแหละ” จิม แครี่

ขณะที่ มารีญา พูนเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2560 ทวีตข้อความว่า

"ภูมิใจนักศึกษาไทย"

โดยที่ไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติม แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากมองว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุนนักเรียนและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสะท้อนความไม่พอใจสถานการณ์ทางการเมือง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่

ท่าทีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่สนับสนุนข้อความของมารีญา บางคนระบุว่า ขอบคุณ ที่ไม่ดูถูกความคิดของน้องๆ นักเรียนนักศึกษา แต่บางรายเรียกมารีญาว่า 'ติ่งส้มเน่า' ซึ่งเป็นคำที่ผู้ต่อต้านพรรคอนาคตใหม่ใช้เรียกผู้สนับสนุนพรรค

หลังจากนั้นเธอได้โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ว่า "Everything can be achieved through #love and #respect (ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสำเร็จได้ด้วยความรักและการให้เกียรติกัน) พร้อมปักหมุดไว้ด้านบนสุด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นักแสดงหนุ่ม ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในงานหนึ่ง เพื่อตอบคำถามว่า คิดอย่างไรที่มีนักศึกษาออกมาชุมนุม และกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ โดยหนุ่มซันนี่บอกว่า

"ถ้าจะต้องโทษใคร ก็ต้องโทษคนที่ปลุกปั่นให้มันเกิดแบบนี้ เพราะทุกคนมันก็ไม่ได้คิดว่าใครผิด คือยุให้คนนี้ทำแบบนี้ไปทะเลาะกับคนนี้ โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้คิดว่าผิด แล้วมันจะจบที่ตรงไหน" จนเกิดแฮชแท็ก #ซันนี่เป็นสลิ่มเหรอ ขึ้นในทวิตเตอร์ โดยผู้แสดงความเห็นจำนวนมากยืนยันว่า การออกมาชุมนุมไม่มีใครปลุกปั่นหรือชักจูง แต่เป็นการออกมาพูดเพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

หลังเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ นักแสดงหนุ่มก็ปิดปากเงียบ ยุติการเคลื่อนไหวทางโซเชียลทุกช่องทาง โดยไม่ออกมาชี้แจงใดๆ หรือเล่นโซเชียลในช่องทางใดอีก แต่ยังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากที่ให้กำลังใจนักแสดงหนุ่มด้วยการติดแฮชแท็ก #saveซันนี่ จนติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมอยู่ระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีคนบันเทิงหลากหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเรื่องต่างๆ รวมถึง ป้อง ณวัฒน์ ที่แสดงความคิดเห็นเรื่อง 'มารยาทผู้นำ' หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงท่า 'มินิฮาร์ท' หลังแถลงข่าวกรณี 'กราดยิงโคราช' ซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่

หรือ 'พีช' พชร จิราธิวัฒน์ ที่เขาออกมายอมรับว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งที่เป็นกระแสร้อนแรง อย่าง 'ปั้นจั่น' ปรมะ อิ่มอโนทัย ซึ่งโพสต์ข้อความวิจารณ์ผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า คสช.และนักการเมืองไม่ได้ต่างกัน"ฉะนั้นอย่าบ่นมาก ทำมาหากินไป มีเยอะก็เอาไปช่วยคนอื่นละกัน ทำบุญเยอะๆ..."

ด้วยเหตุนี้ึจึงมีผู้ออกมาตอบโต้ 'ปั้นจั่น' ว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะ คสช.ไม่ได้ครองอำนาจด้วยวิธีการอันชอบธรรม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออาชีพการแสดง ทำให้ปั่นจั่นต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษผู้ร่วมงานในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกชาวเน็ต 'บอยคอต' เพราะปั้นจั่นนำแสดง

ความเคลื่อนไหวในสื่อโซเชียลสะท้อนว่า หากคนบันเทิงจะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กลับกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และผลงาน

  • ทวิตเตอร์ของนักแสดงชื่อดัง 'จอห์น คูแซก' วิจารณ์นโยบายทรัมป์ที่มีต่ออิหร่าน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในวงการบันเทิงฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็นได้ว่า มีหลายกรณีที่นักแสดงถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นกัน แม้แต่การพูดคุยกับบุคคลทางการเมืองก็อาจเป็นประเด็นให้ถูกบอยคอตด้วย แต่นักแสดงจำนวนไม่น้อยยังต่อสู้หรือย้ำจุดยืนในประเด็นที่ตนเองยึดมั่น

เมื่อต้นเดือน ม.ค.2563 'จอห์น คูแซก' และ 'โรส แม็กโกแวน' ทวีตข้อความวิจารณ์กรณีกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้โดรนสังหารผู้นำทางทหารของอิหร่าน และโจมตีที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งนักแสดงฮอลลีวูดทั้งคู่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการใช้กำลังทหารแทรกแซงประเทศอื่น โดยคูแซกระบุ ทรัมป์เข้าสู่โหมด 'เผด็จการ' ซึ่งเต็มไปด้วยคำโกหกและจะนำไปสู่สงคราม ทำให้เขาถูกผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่สนับสนุนทรัมป์ตอบโต้อย่างหนัก โดยบางรายไล่เขาให้เล่นหนังเล่นละครไป อย่ามายุ่งการเมือง แต่คูแซกยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับทรัมป์

ส่วนกรณีของแม็กโกแวน ถูกผู้ใช้ทวิตเตอร์โจมตีอย่างหนักและถูกประณามว่าไม่เคารพทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในอิรัก ทำให้แม็กโกแวนลบทวีตดังกล่าว พร้อมขึ้นข้อความใหม่ในทวิตเตอร์เพื่อชี้แจงว่าเธอ 'ตื่นตระหนก' เกินเหตุ เพราะไม่อยากให้เกิดสงคราม และคิดว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิที่เธอจะตื่นตระหนกเพราะท่าทีของผู้นำที่กำลังอยู่ในอำนาจ พร้อมย้ำว่านี่คือหลักการประชาธิปไตย แต่เธอก็ไม่ต้องการให้ทหารอเมริกันต้องถูกฆ่าในสงครามเช่นกัน

นอกเหนือจากการต่อต้านนโยบายทางการทหารของทรัมป์แล้ว แม็กโกแวนยังเป็นหนึ่งในกลุ่มนักแสดงหญิงที่ออกมาเปิดโปงการคุกคามทางเพศของ 'ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน' อดีตโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดังที่กำลังถูกคุมตัวเพื่อไต่สวนคดีข่มขืนและละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายราย และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการ #MeToo ในฮอลลีวูด ซึ่งในตอนแรกเธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพยายาม 'เรียกร้องความสนใจ' เช่นกัน แต่แม็กโกแวนยังเดินหน้าต่อพร้อมๆ กับผู้เสียหายคนอื่นๆ จนคดีของไวน์สตีนเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล

ส่วนกรณีล่าสุด ได้แก่ 'วินซ์ วอห์น' นักแสดงตลกชายที่เคยโด่งดังจากเรื่อง Weddings Crasher, The Break-up, Couple Retreats ฯลฯ ถูกกลุ่มผู้ต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแพร่ข้อความโจมตีในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากมีคลิปไวรัลขณะเขาพูดคุยกับทรัมป์ในงานเลี้ยงงานหนึ่ง โดยผู้ต่อต้านทรัมป์ส่วนใหญ่ทวีตว่า จะไม่สนับสนุนผลงานของวอห์นอีก แต่มีผู้แย้งว่า การมีปฏิสัมพันธ์หรือผูกมิตรกับทรัมป์ ไม่ได้หมายความเขาจะต้องสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของทรัมป์เสมอไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :