ไม่พบผลการค้นหา
16 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยพิจารณาเรื่องด่วน "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ...." ซึ่งกลุ่ม Re-Solution รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 135,000 คนยื่นต่อสภา

พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนจากกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงความจำเป็นในการนำเสนอร่างแก้ไขนี้ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้เดินไปข้างหน้าได้ แม้สิ่งที่ดีที่สุดคือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กระบวนการยาวไกลและถูกขัดขวางมากมายจึงต้องแก้ไขเฉพาะมาตราในครั้งนี้ เพื่อขจัด 'ระบอบประยุทธ์' ที่มีเกราะหนาอย่างรัฐธรรมนูญ 2560 คอยปกป้อง 

พริษฐ์ กล่าวถึงการนำเสนอการยกเลิกวุฒิสภาว่า เป็นเพราะไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่งตั้งเครือข่ายพวกพ้อง แต่มีอำนาจสูงมากสามารถเลือกนายกฯ ได้ และไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบรัฐบาลเพราะไม่เคยคัดค้านสิ่งใดของรัฐบาลเลย

พริษฐ์ชี้ “รัฐสภาที่ดีที่สุด คือรัฐสภาที่ไม่ต้องมีวุฒิสภา”

"หลักการที่จะออกแบบโครงสร้างการเมืองใหม่ให้กระชับ ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ การหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยว ไม่ต้องมีวุฒิสภาเลย และการที่มีแต่เพียงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มีข้อดีอยู่หลักๆ 3 ข้อ คือ ถูกกว่า เรียบง่ายกว่า และทันสมัยกว่า”

พริษฐ์ แจกแจงว่า ข้อดีเรื่องการประหยัดงบประมาณของประเทศ หากคำนวณเพียงแค่เงินเดือนของ ส.ว. 250 คน และ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยของแต่ละคนอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี หากรวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารจัดเลี้ยง ค่าประชุมกรรมาธิการ รวมถึงค่าเดินทางต่างๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านต่อปี 

"ผมก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสรอฟังสมาชิกวุฒิสภาทุกท่านอภิปรายกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศวันนี้ว่าทำไมเขาควรจ่ายเงินปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เรายังมีวุฒิสภาอยู่" 

พริษฐ์ กล่าวถึงข้อดีประการที่สองเรื่องความเรียบง่ายและปกติที่สุด ในการทำให้รัฐสภามีความยึดโยงกับประชาชนและอยู่ในกรอบประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างในประเทศนิวซีแลนด์เคยเลือกมีวุฒิสภาแต่งตั้งที่มีอำนาจน้อย แต่ก็ต้องพบกับความยากลำบากที่จะหากระบวนการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลางทางการเมืองจริงๆ ส่งผลให้มีการเสนอยกเลิกวุฒิสภาในปี 1951 ส่วนประเทศสวีเดนก็เคยเลือกมีวุฒิสภาเลือกตั้งที่มีอำนาจเยอะแต่ก็พบว่าพอมีทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ ทั้ง 2 สภาก็เริ่มมีลักษณะทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีการยกเลิกวุฒิสภาในปี 1970

"ในไทยเอง วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดในการหาสมดุลนี้ แต่วุฒิสภาชุดนั้นก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนที่มาจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวกันกับที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ชวนคิดว่าเราจะมี 2 สภาที่หน้าตาเหมือนกันไว้ทั้งคู่ทำไม การใช้ระบบสภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกที่เรียบง่าย และทำให้เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปกับการหาสมดุลกับสิ่งที่พยายามหากันมาหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่พบเจอ"

พริษฐ์กล่าวถึง ข้อดีประการที่สามคือ จะเป็นการออกแบบกระบวนการนิติบัญญัติที่ทันสมัย และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า

สำหรับความกังวลว่าหากไม่มีวุฒิสภาจะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล พริษฐ์เสนอว่า กลไกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ก็สามารถถูกปรับเปลี่ยนให้เพิ่มพื้นที่ตรงนี้ได้ แถมอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า เนื่องจากเป็นการให้พื้นที่ทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการพิจารณาร่างกฎหมาย แทนที่จะไปห้อยอยู่ขั้นตอนท้ายสุดในการกลั่นกรองกฎหมาย

"หากท่านกังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายรัฐบาล ทางเราจึงเสนอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส. ฝ่ายค้าน ให้สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเข้มข้นขึ้น ผ่านการกำหนดให้ตำแหน่งรองประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง และตำแหน่งประธานกรรมาธิการที่สำคัญต่อการตรวจสอบ อย่างเช่น กมธ.งบประมาณ ตกเป็นของฝ่ายค้าน ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างแพร่หลายขึ้น กลไกการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อาจไม่ใช่การหวังพึ่งบุคคล 200 กว่าคนในสภาฯ แต่เป็นการติดอาวุธให้ประชาชนได้ตรวจสอบรัฐบาลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานของรัฐได้มากขึ้น หรือออกกฎหมายคุ้มครองคนที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล" 

"ท่านสังเกตไหมครับว่าในแต่ละครั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันยอมถอยเรื่องร่างกฎหมายหรือการกระทบบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างเช่นการชะลอการซื้อเรือดำน้ำ ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภาแห่งนี้ แต่มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนนอกสภาในโลกออนไลน์หรือบนท้องถนน"  

"ถ้าเราสำรวจแค่เฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกที่เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ และ ที่ใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เราจะเห็นว่า 2 ใน 3 ของประเทศเหล่านั้น เลือกใช้ระบบสภาเดี่ยว สภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกหลัก สภาคู่ต่างหากที่เป็นทางเลือกรอง" 

ร่างฉบับ "ไว้วางใจประชาชน"

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ใจความสำคัญของร่างนี้ยังต้องการสร้างระบบการเมืองท่ี “ไว้วางใจประชาชน”

• ระบบที่ไว้วางใจประชาชนให้เขามีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกด้วย

• ระบบที่ไว้วางใจประชาชนให้เขาเลือกนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองมานำเสนอกับเขาได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าเลือกไปแล้วก็ทำให้เป็นจริงไม่ได้ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติที่ล็อกไว้แล้วล่วงหน้า 20 ปี

• ระบบที่ไว้วางใจประชาชนให้เขาแก้ทุกวิกฤตทางการเมืองกันเองผ่านกลไกรัฐสภา โดยไม่ต้องให้ทหารเข้ามายึด อำนาจและอ้างว่าเพื่อจะมาแก้ปัญหาให้พวกเขา

"ผมเลยอยากชวนสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะไว้วางใจผมหรือผู้สนับสนุนร่างท่านอื่นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือการทที่ท่านไว้วางใจประชาชน และโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน และถึงแม้ท่านจะยังไม่เห็นด้วยกับผมว่าเราควรมีระบบการเมืองที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของการไว้วางใจประชาชน ผมขอให้ท่านเลือกไว้วางใจประชาชนแค่ครั้งเดียว ในการตัดสินใจเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ด้วยเสียงของเขาเอง เพราะในเมื่อมาตรา 256(8) ได้กำหนดไว้อยู่แล้วว่าหากร่างนี้ผ่านการพิจารณา 3 วาระของรัฐสภา จะต้องมีการจัดทำประชามติกับคนไทยทั่วประเทศว่าเห็นชอบกับร่างแก้ไขนี้หรือไม่"

"ตลอดการอภิปรายของที่ผ่านมา ผมไม่เคยสักครั้งที่จะหยิบยกตัวเลข 135,247 ชื่อเมื่อ 5 เดือนที่แล้วมาอ้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดการอภิปรายหลังจากนี้ท่านก็ควรจะหยุดการหยิบยกตัวเลข 16 ล้านเสียง จากประชามติเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาอ้างว่าเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของประเทศในทุกวันนี้ ถ้าอยากวัดกันจริงๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศคิดเห็นอย่างไร ทางเดียวที่จะวัดได้ก็คือการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไปดูผลการลงประชามติที่จะต้องเกิดขึ้น หากท่านฟังเช่นนี้แล้วท่านยังเลือกที่จะตัดหน้าประชาชนและโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แทนที่จะไปวัดกันที่ประชามติ การอภิปรายของท่านในวันนี้จะถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของการอภิปรายคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution แต่จะถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชน ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ"

ปิยบุตรเสริม การตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพิ่มให้เข้มข้นในสภาผู้แทนฯ ดีกว่า

ปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนจากกลุ่ม Re-Solution กล่าวเสริมประเด็นของพริษฐ์ว่า เมื่อเหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรก็จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเพิ่มเติมบทบาทฝ่ายค้านและสภาผู้แทนฯ ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น

  • กำหนดรองประธานสภาผู้แทนฯ อย่างน้อย 1 คน ต้องมาจากฝ่ายค้าน
  • ประธาน กมธ.สามัญในคณะสำคัญอย่างน้อย 5 คณะต้องยกตำแหน่งนี้ให้ส.ส.ฝ่ายค้าน
  • การแบ่งสัดส่วนกมธ.วิสามัญต้องให้ฝ่ายค้าน
  • ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเงิน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ส.ส.เสนอ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกฯ ลงนาม หากไม่มีลายเซ็นต์จะไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภา เหตุผลในอดีตคือ มองว่านายกฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารย่อมรู้ว่าเงินในกระเป๋าเหลือเท่าไร ส.ส.จะเสนอต้องถามนายกฯ ก่อน แต่ทำไปทำไมเรากลับเปิดช่องให้นายกฯ สามารถคว่ำร่างกฎหมายที่ส.ส.เสนอได้ อันที่จริงถ้าเข้าสภา รัฐบาลก็มีส.ส.เสียงข้างมากอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้สภาพิจารณากันเอง
  • ให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. อันที่จริงทั่วโลกไม่ได้บังคับเพราะโดยทางปฏิบัติ ส.ส.ก็จะโหวตเลือกส.ส. แต่ประสบการณ์เรา ถ้าไม่เขียนบังคับจะได้ทหาร คนทำรัฐประหารมาทุกครั้งไป
  • เพิ่มบทบาทประชาชน ส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ด้วยการให้คนมีสิทธิเลือกตั้งเสนอกฎหมายได้ทั้ง พ.ร.ป. ใช้รายชื่อ 2 หมื่นคน และ พ.ร.บ.ใช้รายชื่อ 1 หมื่นคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะหมวด 3 สิทธิเสรีภาพ และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
  • มีคณะผู้ตรวจการกองทัพ แบ่งสัดส่วนเป็นธรรมโดยให้ ส.ส.รัฐบาลและค้านอย่างละ 5 คน โดยเคารพหลักรัฐบาลอยู่เหนือกองทัพ ใช้ในประเทศเสรีปชต.ทั่วโลก กองทัพก็เป็นหน่วยงานราชการเหมือนกัน จะเข้าไปตรวจสอบงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การหารายได้ และเป็นหลักประกันให้นายทหารชั้นผู้น้อยได้มีโอกาสร้องเรียนเรื่องวินัย 

ปิยบุตรเสนอทางแก้ปมปัญหาการเมืองไทย ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระที่บิดเบี้ยว

ปิยบุตรกล่าวถึงการปฏิรูปที่มาและตรวจสอบศาลรัฐธรรนูญว่า ก่อนปี 2540 เราไม่รู้จักว่าศาลรัฐธรรมสูญและองค์กรอิสระว่าคืออะไร แต่มันโผล่มาในประเทศไทยและมีบทบาทมีอำนาจอย่างมากหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 สาเหตุเริ่มต้นจากการปฏิรูปการเมือง หลายเรื่องเราเอามาจากต่างประเทศแล้วปรับแต่งให้เข้ากับเรา หลายเรื่องมาจากชุดวิจัยของประเวศ วะสี หรือความคิดของอมร จันทรสมบูรณ์ แต่พอใช้มาใช้ไปเกิดปัญหา ตอนออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เราต้องการให้ที่มานั้นหลุดไปจาก ส.ส. โดยที่ให้ ส.ส.มีส่วนเฉพาะกรรมการสรรหาเท่านั้น แล้วส่งให้ ส.ว.จากการเลือกตั้งเห็นชอบ ความฝันคือ คิดว่าหากจะได้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่อิสระแท้จริง มีรัฐบาลที่เข้มแข็งพร้อมๆ กับระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่ก็มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลครอบงำ ส.ว. เพื่อครอบงำองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง แล้วนายพลคนหนึ่งก็ไปแอบอ้างทำรัฐประหาร พอเกิดรัฐประหารก็ทำรัฐธรรมนูญ 2550 ใหม่ แล้ว ส.ว.ที่เคาะคนสุดท้ายมาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ทั้งยังเพิ่มบทบาทตุลาการศาลฎีกามามีบทบาทในการคัดเลือกมายิ่งขึ้น มาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งไปกันใหญ่ ส.ว.คนเคาะคนสุดท้ายมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ต่อให้อมพระมาพูดว่าเป็นกลาง เป็นอิสระ แต่คนไม่เชื่อ เพราะที่มาไปเชื่อมโยงกับ สนช. และ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. 

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็เกิดปัญหา ไม่ต้องกล่าวย้ำทุกเรื่อง คำวินิจฉัยหลายเรื่องก่อปัญหากับสังคม มีการตั้งคำถามจากประชาชน และท้ายที่สุดผู้คนตั้งคำถามว่า เรามีศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.เพื่อตรวจสอบหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง อันที่จริงหลายประเทศก็ประสบปัญหาคล้ายกัน นั่นเพราะนับตั้งแต่เราคิดค้นการมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระขึ้นมา เราเพิ่มอำนาจให้พวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถชี้ชะตาทางการเมือง-นักการเมืองได้ จึงเป็นธรรมดาที่ฝักฝ่ายทางการเมืองประสงค์จะช่วงชิงตรงนี้ เพราะเล็งเห็นว่าองค์กรนี้ให้คุณให้โทษได้อย่างมากมาย ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ในเมืองฝ่ายการเมืองอยากเข้ามาครอบงำ แม้ออกแบบให้ ส.ว.เห็นชอบ ก็หนีการครองำไม่พ้น เราจึงเสนอแบ่งสรรปันส่วนอำนาจให้เท่าเทียมกัน คือ 

  • ศาลรัฐธรรมนูญ มี 9 คนเหมือนเดิม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ศาลปกครอง เสนอ 6 คน ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ 6 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอ 6 คน แล้วเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคัดเลือกให้เหลือส่วนละ 3 คน รวมเป็น 9 เก้า โดยต้องใช้เสียง ส.ส.สูงถึง 2 ใน 3 ดังนั้น สัดส่วนที่แต่ละฝ่ายเลือกจะเท่ากันและมาจากการเห็นพ้องต้องการของสภา จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ ส.ส.ต้องหารือกัน จะหักดิบกวาดทั้งหมดแต่ผู้เดียวไม่ได้ ความคิดแบบนี้ก็เอามาจากต้นตำรับศาลรัฐธรรมนูญ คือ ออสเตรียและเยอรมนี 

"ถ้าจะใช้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก ก็ต้องให้ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเขาต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจาการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องมีความชอบธรรมสูสีกัน องค์กรอิสระก็เช่นกัน" ปิยบุตรกล่าว  

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ประเด็นถัดไป ในอดีตเราสร้างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยมีหลักใหญ่ใจความคือ การตรวจสอบว่า พ.ร.บ.ที่ผ่านจากสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า นานวันเข้าก็ไปเพิ่มอำนาจแปลกๆ ใหม่ๆ ที่พัวพันกับอำนาจการเมืองเข้าไป ไม่ว่าการยุบพรรค การตัดสิทธิ ส.ส. การตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้าม ส.ส.-รัฐมนตรี ชี้ว่าการกระทำของบุคคลใดเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ทั้งที่หัวใจสำคัญคือการดูว่าร่างพระราชบัญญัติใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลด้วย ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญร่างฉบับนี้คงเหลืออำนาจในเรื่องสำคัญเท่านั้น คือ

  • ตรวจสอบ พ.ร.บ.ว่าขัดรัฐธรรมหรือไม่
  • ชี้ขาดว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายหากขัดแย้งกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดว่าอำนาจเรื่องนั้นเป็นของใคร
  • ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • เพื่อให้เป็นกลางและอิสระอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวพันกับรัฐประสารจึงเสนอว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ต้องไม่เคยเป็นคนเคยดำรงตำแหน่งจากการรัฐประหารปี 2549 และ 2557
  • ในการตรวจสอบถ่วงดุลเสนอให้มีการถอดถอนได้

"เรื่องการถอดถอนไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญ 2540 เคยกำหนดให้ ส.ว.เป็นคนถอด พอรัฐธรรมนูญ 2560 ไปมอบภารกิจให้ศาลฎีกาซึ่งผิดฝาผิดตัว เขาพิจารณาคดีแพ่งและอาญา ทำให้ศาลที่ต้องใช้ข้อกฎหมายตัดสินต้องมาพิจารณาเรื่องจริยธรรม ความเหมาะสม เราจึงเอาเรื่องนี้มาให้ ส.ส. ถ้ากังวลว่า ส.ส.จะถอดตุลาการกันหมด ก็จะบอกว่ามันไม่ใช่ถอดกันมั่วซั่ว การถอดถอนต้องมีเหตุ เหตุแห่งการถอดถอนเอามาจากรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง เช่นต้องส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ต่อความยุติธรรม แล้วเราเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอถอดถอดได้ด้วย มีองค์คณะวินิจฉัยโดยมี ส.ส.ร่วมกับศาลในองค์คณะ และใช้มติสูงมากในการถอดถอน คือต้องมีเสียงส.ส. 3 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมด"  

"เราสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมาเป็นองค์กรตรวจสอบ แล้วใครตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ ถ้าไม่มีการตรวจสอบก็มีโอกาสใช้อำนาจไม่ถูกต้องเช่นกัน"

เพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบศาล-ทหาร ยืนยันไม่ใช่การแทรกแซง

ปิยบุตรยังชี้แจงถึงคณะกรรมการตรวจสอบศาลและศาลรัฐธรรมนูญในร่างแก้ไขว่า หลักการง่ายๆ คือ การถ่วงดุลกันของฝ่ายนิติบัญญัติกับตุลาการ เราเสนอให้มีผู้ตรวจการนี้ โดย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ยค้านอย่างละ 5 คน คณะกรรมการนี้อำนาจที่มีไม่ได้แทรกแซงการตัดสิน ผู้ตรวจการทำได้แต่เพียงเอาคำวินิจฉัยมาศึกษาวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบต่างๆ จากคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยแล้วเสนอกับประชาชน และเสนอแนะการบริหารงานยังประธานศาล และให้ตัวแทน ส.ส.เข้าไปนั่งในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) หรือคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพียง 1 คนเท่านั้น อย่างน้อยเป็นจุดเกาะเกี่ยวว่า อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าไปอยู่ในการบริหารของศาล เข้าไปดูด้วย โดยไม่ต้องกังวลว่า ส.ส.จะครอบงำศาล ครอบงำองค์กรอิสระ เพียงแต่ถ่วงดุลให้มีดุลยภาพ ผู้แทนประชาชนจะได้รู้บ้างว่าบริหารงานอย่างใด 

ต้องล้มล้างผลพวงรัฐประหาร-ป้องกันรัฐประหารในอนาคต

ปิยบุตร ชี้แจงประเด็นสุดท้ายคือ การลบล้างผลพวงรัฐประหารว่า ในร่างได้เขียนในหมวดสุดท้าย โดยคิดว่า เพื่อนสมาชิกรัฐสภาคงไม่มีใครเห็นด้วยกับการรัฐประหาร อาจถกเถียงถึงมูลเหตุของรัฐประหารกันได้ แต่ไม่มีใครเห็นด้วยแน่ๆ จึงไม่เห็นเหตุผลอะไรอื่นที่จะไม่เห็นด้วยการลบลางผลพวงและการป้องกันรัฐประหาร

ข้อเสนอในร่างนี้คือ 

1. ยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการรับรองให้บรรดาประกาศคำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

"นี่เป็นการสร้างหลุมดำให้ระบบรัฐธรรมนูญ สร้างจุดด่างพร้อยให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะทุกอย่างต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการกระทำกลุ่มหนึ่งโต้แย้งไม่ได้เลย คือ การกระทำของ คสช. ถ้าจะได้รับการยกเว้นก็ต้องเฉพาะช่วงที่อยู่ในระบอบรัฐประหาร หรือระหว่างใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ตอนนี้เป็นระบบปกติ เราเขียนคุ้มครองแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเขียนแบบนี้คือ ยอมให้ประเทศนี้มีกฎหมายสองระบบ" 

2.เรามักพูดกันว่า คณะรัฐประหารถ้าสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ้าแพ้เป็นกบฏ เมื่อใดก็ตามทำสำเร็จเขาก็นิรโทษกรรมตัวเอง เมื่อทำกันจนเป็นประเพณีจึงเป็นธรรมดาที่นายทหารที่คันมืออยากยึดอำนาจก็ทำได้ เพราะเขารู้ว่าถ้ายึดสำเร็จจะไม่ถูกดำเนินคดี ถ้าเขารู้ว่าทำแล้วมีความผิดจะไม่กล้าทำ จึงต้องประกาศให้การนิรโทษกรรมการรัฐประหาร 2557 เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และทำให้การยึดำอนาจ 2557 เป็นกบฏ แล้วดำเนินการทางคดีกันต่อ

"ทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อล้างแค้น แต่เพื่อไม่ให้นายทหารรุ่นต่อไปกล้าทำรัฐประหารอีก"

3.สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เพิ่มเติมให้มีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหารในทุกรูปแบบ บรรดาข้าราชการมีหน้าที่ไม่ฟังคำสั่งคนทำรัฐประหาร และศาลฎีกาเคยมีแนวบรรทัดฐานรับรองการรัฐประหาร จึงเขียนไว้ว่า ห้ามไม่ให้ศาลพิพากษายอมรับการรัฐประหาร

"ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า มันไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองฝ่ายใด เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดี ต้องออกแบบที่สร้างกติกาที่เป็นกลาง ไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบไปกว่ากัน เพื่อนสมาชิกจำเป็นต้องคิดเสมอว่า วันหนึ่งเราอาจเป็นฝ่ายค้าน วันหนึ่งอาจเป็นรัฐบาล จึงต้องสร้างกติกาการเมืองสำหรับทุกฝ่าย แล้วมาสู้กันในทางการเมือง" 

"จึงไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบกับร่างนี้ หากให้ความเห็นชอบในวาระ 1 รายละเอียดปลีกย่อย ความเห็นต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขในวาระ 2 และหากผ่านวาระ 3 พวกท่านยังร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก แล้วต้องทำประชามติอีกด้วย ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญมันต่อเนื่องยาวนาน จึงขอความเห็นชอบในการรับหลักการวาระ 1 เป็นการแสดงออกว่า ท่านไม่ได้ปิดประตูใส่ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา" ปิยบุตรกล่าว