ไม่พบผลการค้นหา
นักการตลาดวิเคราะห์วิธีคิดของผู้ประกอบการหลังยุคโควิด-19 “เห็นใจ โปร่งใส” ต้องรับผิดชอบในระดับที่ลึกกว่า ไม่ใช่แค่นำกำไรมาฉาบฉวย

การประกาศขอถอนตัวจากการดำเนินการที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ของ 'คาเฟ่ อเมซอน' ได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย หลังจากเกิดประเด็นพิพาทระหว่าง ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้ก่อตั้งร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ร้านที่สร้างอาชีพให้แก่คนพิการ และ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  

โดยคณะนิติศาสตร์ ยืนยันว่าได้คัดเลือกผู้ให้บริการตามหลักเกณฑ์ของ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งคาเฟ่ อเมซอน ได้รับคะแนนสูงกว่าร้านยิ้มสู้ อย่างไรก็ตามกระบวนการยังไม่สิ้นสุดและอยู่ระหว่างพิจารณาของคณบดีฯ  

ต่อมาเมื่อเกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง คาเฟ่ อเมซอน ได้ออกแถลงการณ์ขอถอนตัวจากการคัดเลือก พร้อมระบุว่า ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และเชื่อว่าทุกคนควรได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพที่เท่าเทียมและทั่วถึง 

ท่ามกลางเสียงชื่นชมต่อการตัดสินใจของ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ วอยซ์ออนไลน์สัมภาษณ์ ‘วีรพล สวรรค์พิทักษ์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อวิเคราะห์ท่าทีของร้านคาเฟ่ชื่อดัง


รับผิดชอบในระดับที่ลึกกว่า

วีรพล ระบุว่า การตลาดในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรียกว่า “การตลาดยุคเห็นอกเห็นใจ” ซึ่งผู้บริโภคจะได้เห็นจากแบรนด์และบริษัทอีกจำนวนมาก โดยเศรษฐกิจจากนี้คาดว่าจะซึมยาวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะกลับมาในระดับปกติ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น ภายใต้ความโปร่งใส 

เขามองว่า การทำ CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร จะไม่ใช่ลักษณะที่เกิดขึ้นหลังการดำเนินงานของธุรกิจ (after process) แต่จะเป็นลักษณะ In-process ซึ่งเป็นความรับผิดชอบในระดับที่ลึกกว่า ไม่ใช่แค่นำกำไรมาฉาบฉวย

“ไม่ใช่แค่นำกำไรไปทำบุญ ปลูกต้นไม้ ทอดผ้าป่า แต่ผมคิดว่าเราจะได้เห็น ซีเอสอาร์ In-process มากขึ้น และเป็นกลยุทธ์หลักของหลายบริษัทนับจากนี้” 


ระวังฉาบฉวย - ผู้บริโภคดูออก

วีรพล กล่าวว่า ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันฉลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลและประเมินพฤติกรรมของบริษัทได้สูงขึ้น พวกเขาเล็งเห็นและมองออกถึงความโปร่งใสและจริงใจ เพราะฉะนั้นบริษัทต้องคำนึงและจริงจังกับกิจกรรมการพัฒนาและช่วยเหลืออย่างแท้จริง 

“การตลาดต้องมี sincerity หรือมีความจริงใจสูง ไม่ใช่การทำแบบฉาบฉวยหรือเอาหน้า เพราะถ้าทำอย่างนั้นผมเชื่อว่าสังคมทั้งในออฟไลน์เเละออนไลน์ เขารู้หมดแหละ 

“เราต้องวางความโปร่งใสไปอยู่ในกลยุทธ์หลักขององค์กร” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเชื่อว่า กลยุทธ์ที่ใช้ความเห็นอกเห็นใจนำอย่างที่อเมซอนทำ มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างมากในไทยมากกว่าประเทศฝั่งตะวันตก เนื่องจากพื้นฐานลักษณะนิสัยของผู้คนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในยามวิกฤตมาเสมอ 

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000010431002.JPEG
ย้อนดู 'นิติศาสตร์' แถลงว่าอย่างไร

วันที่ 3 ต.ค. คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้แจงกรณีการคัดเลือกผู้ให้บริการเครื่องดื่มในพื้นที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการสิ้นสุดสัญญาของร้านกาแฟยิ้มสู้ ซึ่งให้บริการเครื่องดื่มแก่บุคลากรและนักศึกษาในบริเวณพื้นที่ของคณะนิติศาสตร์ บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น คณะนิติศาสตร์ ขอชี้แจงดังต่อไปนี้

1. การที่คณะนิติศาสตร์ดำเนินการคัดเลือกผู้ให้บริการเครื่องดื่มเมื่อสัญญากับผู้ให้บริการรายเดิมสิ้นสุดลง เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติภายใต้กฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ให้บริการเครื่องดื่มในพื้นที่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ปี 2561 โดยสัญญาได้สิ้นสุดในช่วงกลางปี 2563 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเวลามีการปิดมหาวิทยาลัย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ผ่อนผันให้ผู้ให้บริการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้บริการต่อไปได้โดยไม่เสียค่าเช่า คณะนิติศาสตร์จึงอนุญาตให้ร้านยิ้มสู้ค่าเฟ่ ให้บริการต่อไป โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด จนกระทั่งสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

2. เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนตามปกติในเดือนสิงหาคม 2563 คณะนิติศาสตร์จึงได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ให้บริการตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือก 2 ราย ได้แก่ ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ และ Café Amazon คณะนิติศาสตร์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน 14 คน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริหาร ตัวแทนคณาจารย์ ตัวแทนบุคลากรสายสนับสนุน ตัวแทนนักศึกษา โดยคณะกรรมการทำการประเมินในสองส่วน ส่วนแรกเป็นการประเมิน 9 รายการ เช่น ขั้นตอนทางธุรการ ความสะอาด และความปลอดภัยของอาหาร การจัดเตรียมอาหาร การให้บริการ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และข้อเสนอค่าตอบแทน

โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุมจำนวน 12 คน แยกกันประเมินแล้ว จึงนำผลคะแนนมารวมกัน ปรากฏว่า ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ได้คะแนนรวม 1,059 คะแนน Café Amazon ได้คะแนน รวม 1,092 คะแนน ส่วนที่สองเป็นการประเมินรสชาติ ปริมาณ ความเหมาะสมของราคา ความน่ารับประทาน และความสะอาด โดยคณะกรรมการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของประชาคม ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ทุกหลักสูตร ที่ทำการเรียนการสอนที่ท่าพระจันทร์ เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินส่วนที่สองนี้ มีผู้เข้าร่วมประเมินทั้งสิ้น 44 คน โดยผู้ประเมินแต่ละคนแยกกันประเมินแล้วจึงนำผลคะแนนมารวมกัน ปรากฏว่า ร้านยิ้มสู่คาเฟ่ ได้คะแนนรวม 856.5 คะแนน Café Amazon ได้คะแนนรวม 1,011 คะแนน เมื่อพิจารณาผลการประเมินทั้งสองส่วน Café Amazon ได้รับคะแนนมากกว่าร้านยิ้มสู้คาเฟ่

3. วิธีการคัดเลือกที่คณะกรรมการคัดเลือกใช้ในครั้งนี้ เป็นวิธีการคัดเลือกแบบเดียวกันกับที่ใช้ในการคัดเลือกเมื่อปี 2561 ซึ่งร้านยิ้มสู้คาเฟ่ได้รับการคัดเลือก

https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyMC0xMC9kNWFhMTk3NTBlYmUxOWE4Yjc0YWJmZDkzN2I3ODUwYi5qcGc=
  • ร้านยิ้มสู้

4. คณะกรรมการคัดเลือกเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจมีต่อลูกจ้างที่เป็นคนพิการของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ จึงได้สอบถามความเป็นไปได้ที่ Café Amazon จะว่าจ้างลูกจ้างที่เป็นคนพิการต่อไปในกรณีที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่ง Café Amazon ตอบรับที่จะว่าจ้างลูกจ้างที่เป็นคนพิการต่อไป หากได้รับการคัดเลือก

5. คณะกรรมการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลการคัดเลือกเพื่อเสนอให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ พิจารณาว่า จะเห็นชอบกับผลการคัดเลือกหรือไม่ ในกรณีที่คณบดีคณะนิติศาสตร์เห็นชอบก็จะดำเนินการทำสัญญากับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อไป คณะนิติศาสตร์ ขอยืนยันว่า นับถึงเวลาที่เผยแพร่คำชี้แจงนี้ คณะกรรมการคัดเลือกยังจัดทำรายงานการคัดเลือกไม่แล้วเสร็จ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบกับผลการคัดเลือกแต่อย่างใด โดยปกติแล้วการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบจะดำเนินการภายหลังจากที่คณบดีคณะนิติศาสตร์ให้ความเห็นชอบกับผลการคัดเลือกแล้ว

6. อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการจัดทำรายงานผลการคัดเลือก เจ้าหน้าที่ของคณะนิติศาสตร์ได้แจ้งผลการประเมินต่อร้านกาแฟยิ้มสู้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติในกรณีที่ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ทราบว่า ในกรณีที่ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ไม่ได้รับการต่อสัญญา ร้านยิ้มสู้คาเฟ่จะได้รับอนุญาตให้บริการต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 คณะนิติศาสตร์ไม่เคยกำหนดให้ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ยุติการให้บริการและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 โดยที่ยังคิดอัตราค่าเช่าเต็มเดือนพฤศจิกายนแต่อย่างใด

7. คณะนิติศาสตร์ต้องขออภัยที่การสื่อสารภายในก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และสร้างความไม่สบายใจให้กับศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป แต่ขอยืนยันว่า กระบวนการคัดเลือกที่ได้ดำเนินการมาแล้วมีความโปร่งใส และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกับผลการคัดเลือกนั้น คณบดีคณะนิติศาสตร์จะพิจารณาถึงการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความเป็นธรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นักศึกษา ผู้รับบริการทั่วไป ตลอดจนลูกจ้างที่เป็นคนพิการของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ หากร้านยิ้มสู้คาเฟ่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ต่อสัญญา คณะนิติศาสตร์จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้ลูกจ้างที่เป็นคนพิการได้ทำงานต่อไป กับผู้ให้บริการใหม่บนพื้นฐานของความสมัครใจของลูกจ้างแต่ละคน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :