ไม่พบผลการค้นหา
พ่อแม่ย่อมหวังอยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี แต่เมื่อการศึกษาที่มีอาจไม่ได้การันตีอนาคต และความสุขของลูก พ่อแม้อาจต้องย้อนกลับมามองใหม่ว่า เป้าหมายที่หวังให้ลูกได้จากการศึกษาคืออะไร

ในระบบการศึกษาทุกคนต่างแพ้และชนะกันมาครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่อนุบาลจวบจนมหาลัย เมื่อมีที่หนึ่ง ก็ย่อมมีที่โหล่ มีคนสอบติด ก็มีคนที่ผิดหวัง คะแนนที่ได้จึงไม่เคยเพียงพอ เพราะในสนามแข่งแห่งนี้ แค่ดียังไม่พอ แต่ต้องดีกว่าคนอื่น

เมื่อเด็กต้องเผชิญกับความเครียดตั้งแต่อ่านออกเขียนได้ ทีม Voice On Being จึงชวน อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ หมอโอ๋ จากเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน พูดคุยเพื่อหาคำตอบว่า เราจะเลี้ยงลูกอย่างไรในระบบการศึกษาที่บีบให้มีคนแพ้ และลูกจะมีอนาคตที่ดีได้ไหมถ้าไม่แข่งไปตามเกม


ในระบบการศึกษา แค่ดีไม่พอ แต่ต้องดีกว่าคนอื่น

เมื่อการศึกษาเป็นเส้นทางสายยาว ด้วยความหวังดีพ่อแม่หลายคนจึงกวดขันลูกแต่เล็กเพราะรู้สึกว่ายิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี รู้ก่อน เรียนก่อน เก่งก่อน ลูกจะได้ไม่เป็นรองใครในห้องเรียนที่เด็กถูกจัดอันดับไว้ให้อยู่สูงหรือต่ำกว่าใครสักคนเสมอ

“ถามว่ามันเป็นเรื่องที่ดีไหม หลายคนบอกว่าเด็กเนี่ย ถ้าชนะตั้งแต่เด็กเลย เขาก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง แต่ว่าเด็กจำนวนนั้นเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ นะคะ และที่สำคัญเนี่ยเด็กที่เหลือเขาจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวเขาไม่ดีพอ”

หมอโอ๋อธิบายว่า การแข่งขันที่บีบให้มีคนแพ้และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อยจะส่งผลกับวิธีคิดในระยะยาวได้ นอกจากนี้ความเครียดจากการต้องนั่งอยู่กับการฝึกทำข้อสอบ การบ่น และการตั้งคำถามจากพ่อแม่ว่าทำไมยังทำไม่ได้นั้นยังมีส่วนทำลายเซลล์สมองของเด็ก


LOGO1200X800_02.jpg
  • หมอโอ๋ - อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

หมอโอ๋ชี้ว่า วัยเด็กควรเป็นวัยที่ได้ใช้เวลาไปกับการพัฒนาสมอง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการนั่งทำข้อสอบ แต่มาจากการเล่นที่หลากหลาย การอ่านนิทาน การวิ่งในลานกว้างๆ การให้ลูกนั่งทำข้อสอบแต่เด็กตามความคาดหวังของพ่อแม่ อาจะนำไปสู่ความผิดหวังในตัวเอง และเป็นการสร้างทัศนคติบางอย่างให้กับลูก ทำให้โตมาโดยรู้สึกว่าต้องชนะ ต้องเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกที่ผิดพลาดในชีวิตได้


อย่าให้การเรียนมาทำลายตัวตนของลูก

แม้อาจจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะอยู่ในระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก แต่พ่อแม่มีส่วนช่วยในการทำให้เด็กเข้าใจว่าความผิดพลาด การไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ หรือตั้งใจไว้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต ลูกอาจจะหกล้มก็ไม่ควรว่าลูกหรือโทษใคร แต่ทำให้ลูกรู้ว่าการล้มเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้เขาเยียวยาตัวเองได้ ป้องกันไม่ให้ล้มซ้ำๆ ได้

“ความล้มเหลวเป็นจุดหนึ่งที่ดีมากๆ ที่จะทำให้ได้รู้ว่าเรามีอะไรที่ต้องพัฒนา มนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ไม่ถูกตัดสินเพราะมีคนมาบอกว่าดีหรือไม่ดี เราเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองโดยเทียบกับตัวของเราว่าเราทำอะไรได้ดี เรามีอะไรที่พัฒนา แล้วเรามีเป้าหมายอย่างไร เรามีวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายอย่างไร สอนลูกเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาตัวเองโดยการตั้งเป้าหมายแบบของตัวเอง”

การพัฒนาตามเป้าหมายของตัวเอง แข่งขันกับตัวเองโดยไม่เปรียบเทียบกับใครนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความถนัดที่ต่างกัน เด็กบางคนอาจจะไม่ได้เก่งด้านการท่องจำ การอ่านหนังสือ แม้อาจจะพัฒนาได้ แต่ก็อาจจะไม่ถึงระดับที่ถูกชื่นชมยอมรับจากโรงเรียน

“ในเมื่อโรงเรียนก็ยังไม่สามารถเป็นได้อย่างที่เราอยากให้เป็นในทุกที่ พ่อแม่ทำอะไรเองได้บ้างที่บ้าน หมอคิดว่าหลักการสำคัญเลยนะคะ อย่าทำให้เรื่องของการเรียนมาทำลายตัวตนของลูก อย่าทำให้มันมาทำลายความนับถือตัวเองของลูกการเรียนดี เป็นทักษะหนึ่งที่บางคนมี แต่บางคนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น”

คุณหมอเสนอว่า พ่อแม่สามารถชมลูกในรูปแบบที่ไม่ใช่ผลลัพธ์ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้สอบได้คะแนนดีหรือสอบติดแล้วจึงจะชม พ่อแม่สามารถชื่นชมได้ตั้งแต่ความพยายามของเด็ก เมื่อลูกอ่านหนังสือก็สามารถชมที่ลูกรับผิดชอบต่อตัวเองในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบได้ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้จากที่บ้าน


ไม่แข่งยิ่งแพ้ พ่อแม่กลัวลูกไม่ทันเพื่อน

แม้จะไม่อยากแข่งกับใคร แต่เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยากคือความกังวลเรื่องอนาคต กลัวว่าถ้าลูกไม่แข่งจะยิ่งแพ้ เนื่องจากสถานศึกษาในไทยอาจมีคุณภาพไม่เท่ากัน หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กต้องขับเคี่ยวกันจึงเป็นที่นั่งที่จำกัดในโรงเรียนชื่อดังและมหาวิทยาลัย

“การศึกษานี่ดูเหมือนเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาเด็ก แล้วก็หลายครั้งการสอบเข้านี่มันเป็นเพราะเราอยากซื้อความมั่นใจในอนาคตให้ลูก เข้าที่นี่ได้ ต่อไปก็สบายแล้ว แต่จริงๆ แล้วหมออยากจะบอกพ่อแม่ว่าโลกของเด็กยุคนี้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เดาได้เลยว่าปริญญาจะไม่มีความหมาย”

ในปัจจุบันมีคอร์สเรียนนอกระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นและสามารถสร้างทักษะการเรียนรู้ให้ได้ การเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นตามแพลตฟอร์มต่างๆ มีคอร์สออนไลน์ของทางมหาวิทยาลัยเองที่สามารถเรียนจบและได้ใบรับรองเช่นเดียวกัน

"สำคัญกว่าการได้ปริญญาคือการสร้างทักษะของการอยากเรียนรู้ อยากพัฒนาตัวเอง ที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือเรื่องของ self-control การควบคุมตัวเองให้ไปถึงเป้าหมาย การยืดหยุ่น มองเหตุมองผล การฝึกเรื่องความจำที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการสมองที่ดี ไม่ใช่สมองที่ฝึกเหมือนเป็นหุ่นยนต์ เรียนอะไรตามตาราง หรือต้องอยู่กับความเครียดที่กดดัน"

เธอกล่าวในฐานะอาจารย์แพทย์ว่าทุกวันนี้พบนักศึกษาแพทย์ที่เรียนอย่างซึมเศร้าไม่มีความสุขเยอะกว่าคิดไว้มาก การจบปริญญาในคณะที่ดีก็ไม่ได้รับประกันอะไรว่าจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ขณะที่เธอพบเด็กที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย หรือเรียนโฮมสคูล แต่ก็มีอาชีพที่มีความสุขและรัก ซึ่งอาจจะเป็นอนาคตที่มีความหมายมากกว่า

“ถ้าลูกหมอสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด สิ่งที่หมอจะพูดกับลูกก็คือหมอไม่เคยเชื่อว่าการจบปริญญา จะนำมาซึ่งชีวิตที่มีความสุข แล้วก็หมอไม่ได้คิดว่าการจบปริญญาควรจะเป็นเป้าหมายในชีวิตของลูก หมออยากให้ลูกเจอแล้วก็ทำในสิ่งที่ลูกรัก แล้วสิ่งที่ลูกรักถ้ามันเป็นอาชีพ มันก็จะเป็นอาชีพที่ทำให้ลูกมีความสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่หมอจะบอกกับลูกก็คือถ้าอยากจะเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป แม่ก็เชื่อว่าความพยายามของหนูก็สามารถทำให้หนูถึงจุดนั้นได้ ก็พยายามต่อไป แต่ถ้าหนูคิดว่ามันก็ไม่ใช่เป้าหมาย จงเดินทางหาสิ่งอื่นๆ ต่อไปที่จะทำ”


แค่ไหนถึงเรียกประสบความสำเร็จ

เราอาจต้องกลับมาทบทวนว่าเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้ลูกได้รับจากระบบการศึกษาคืออะไร คำว่าประสบความสำเร็จหมายความว่าอย่างไร สำหรับคุณหมอแล้ว ชีวิตที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่การหาเงินได้เยอะ แต่เป็นชีวิตที่ใช้อย่างมีความสุข โดยความสุขเองนั้นก็มีอยู่หลายขั้น

ความสุขขั้นต้นเป็นความสุขจากการเสพ ในส่วนนี้ เงินซื้อได้ เช่น การกินอาหารดีๆ ออกไปท่องเที่ยว นอนโรงแรมหรูๆ ขั้นที่สองเป็นความสุขที่เกิดจากการมีส่วนร่วม การอินกับอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น เป็นครูแล้วมีความสุขกับการได้สอนนักเรียน ก็เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่มีความสุขเช่นกัน

“เขาพบว่าชีวิตที่มีความสุขที่สุดจริงๆ ไม่ได้เป็นชีวิตที่มาจากความสุขที่เราเสพได้ แต่มันมาจากการใช้ชีวิตแบบมีความหมายกับคนอื่น เพราะฉะนั้นลองมองคำว่าความสำเร็จในชีวิตลูก ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมว่าจะต้องมีเงินเดือนดีๆ เป็นอาชีพที่คนนับถือ”

ในแง่หนึ่ง เด็กยุคใหม่เองก็มีอาชีพที่หลากหลาย ต่างจากอดีตที่การจะประสบความสำเร็จถูกตีกรอบไว้ว่าจะต้องเป็นหมอ วิศวกร หรือผู้บริหารเท่านั้น ศักยภาพของเด็กในยุคอนาคตนั้นมีความหลากหลาย และหลายๆ อย่างไม่ได้มาจากการเรียนปริญญา หมอโอ๋ยกตัวอย่างถึงอาชีพอย่างช่างแต่งหน้า หรือครูสอนพิเศษตามบ้านที่ในหลายๆ กรณีก็มีรายได้ต่อชั่วโมงมากกว่าหมอซึ่งต้องอยู่เวรทั้งวันทั้งคืนโดยที่เงินเดือนไม่ได้ต่างกันมาก จึงมองว่าเรื่องของรายได้นั้นขึ้นกับว่าเด็กจะหาพบไหมว่าสิ่งที่รักที่จะทำคืออะไร และเมื่อรักแล้ว เจ๋งพอที่จะทำให้คนซื้อบริการหรือสิ่งที่ทำหรือเปล่า

“หมอคิดว่าต้องมีไมนด์เซ็ตกับตัวเองก่อน ที่จะมองคำว่าประสบความสำเร็จกว้างขึ้น มุ่งเรื่องสิ่งที่ลูกรัก มุ่งสิ่งที่ลูกจะทำแบบมีความหมายกับชีวิต หมอคิดว่าอันนี้จะนำมาซึ่งชีวิตที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขของลูกได้”


ลูกไม่ใช่ของเรา

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งความสุขของลูกอาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจมองว่าเป็นหน้าที่ของลูกที่จะเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว หมอโอ๋เห็นด้วยว่าในปัจจุบันพ่อแม่หลายคนมักจะเข้าใจว่าลูกคือสมบัติของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคที่มีโซเชียลมีเดีย ลูกไม่ได้มีความหมายแค่กับเพื่อนข้างบ้านอีกต่อไป แต่กลายเป็นหน้าเป็นตาในสังคม ในโลกออนไลน์สาธารณะ พ่อแม่หลายคนจึงเลี้ยงลูกอย่างระมัดระวัง อยากให้ลูกตั้งเป้าหมายให้ไปถึงจุดที่เป็นหน้าเป็นตา ทำให้พ่อแม่ชื่นใจไปจนถึงอวดใครต่อใครได้

“หมอคิดว่าหลักๆ พ่อแม่ต้องกลับมามีไมนด์เซ็ตที่ดีกับตัวเองก่อน ลูกเนี่ยถึงแม้จะมีบางอย่างเป็นของเรา มียีน มีอะไรที่ได้มาจากเรา แต่เขาไม่เคยเป็นของเรา และเขาก็ไม่มีวันเป็นของเรา เพราะแม้กระทั่งตัวเราเองก็ไม่เคยได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองจริงๆ ตายเมื่อไรเรายังไม่รู้ บังคับก็ไม่ได้

“เรื่องการมีไมนด์เซ็ตที่ดีเกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่ของตัวเองก็คือ เรากำลังเลี้ยงคนๆ หนึ่งให้เขาไปมีชีวิตของตัวเองไม่ได้มาเป็นอะไรของเรา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่ก็คือไม่ได้มีหน้าที่ไปตั้งเป้าหมาย วาดความฝันให้ หรือแม้กระทั่งบงการว่าอะไรควรไม่ควร

"เราอาจจะคิดว่าเรารู้ดีที่สุดสำหรับลูก แต่จริงๆ ไม่มีใครรู้ดีที่สุดสำหรับใคร คนทุกคนมีหน้าที่ตัดสินใจชีวิตของตัวเอง”
LOGO1200X800.jpg
  • หมอโอ๋ - อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

ในฐานะแม่คนหนึ่ง หมอโอ๋เล่าว่าไม่เคยมีความคาดหวังกับลูกว่าอยากให้โตมาเป็นอะไร อาชีพอะไร เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ว่าจะคิดไปทำไม ไม่มีประโยชน์ทั้งกับตัวเองและกับตัวลูก แต่สิ่งที่คาดหวังต่อลูกคือคุณสมบัติบางอย่างมากกว่า

ความคาดหวังทั้ง 4 คือ อยากให้ลูกมี EF (Executive Function) ที่ดี คิดเป็น เลือกตัดสินใจได้ว่า อะไรใช่ไม่ใช่สำหรับตัวเอง หวังให้ลูกมี Growth Mindset มีความคิดเชิงบวกต่อการพัฒนาตัวเอง ไม่ติดกรอบของความเชื่อว่า ตัวเองเก่ง เจ๋ง หรือดี แต่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ หวังให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต เข้ากับใครได้ไม่ยาก และสุดท้ายคือหวังให้ลูกมี Self-Esteem เป็นเด็กที่นับถือตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ใช้ได้ มีความหมาย เป็นที่รัก

“ส่วนเขาอยากเป็นอะไรอยากทำอะไร เขาจะล้มเหลวไหม เขาจะผิดพลาดหรือเปล่า หมอคิดว่านั่นคือเรื่องของชีวิตลูก และความล้มเหลวผิดพลาดของชีวิตลูก หมอก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตหมอ หมอไม่มีหน้าที่ชื่นชมกับความสำเร็จ หมอมีหน้าที่ประคับประคองเขาในวันที่ล้มเหลว”