ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด 2 คนแรก ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้หลายพันคน

แพทย์ของรัฐบาลบังกลาเทศเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 คนในค่ายค็อกซ์บาซาร์ ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และชาวบังกลาเทศที่อาศัยอยู่ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัย 1 คน มีผลการตรวจเชื้อแล้วว่าติดโรคโควิด-19 เป็น 2 คนแรกในค่ายที่ติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยทั้งคู่อยู่ระหว่างการกักตัวรักษา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้มีการกักตัวผู้ลี้ภัยอีกกว่า 1,900 คน เพื่อดูอาการและทดสอบว่าติดเชื้อด้วยหรือไม่ 

ชาวโรฮิงญาที่อยู่กันอย่างแออัดในค่ายค็อกซ์บาซาร์ ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์การปิดค่ายมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.แล้ว โดยรัฐบาลบังกลาเทศสั่งระงับบริการส่วนใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงโครงการด้านการศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ของเหล่าเอ็นจีโอ รวมถึงควบคุมการเข้าออกค่ายผู้ลี้ภัยอย่างใกล้ชิด แต่งานฉุกเฉินต่างๆ ก็จะยังดำเนินต่อไป 

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานให้ความช่วยเหลือในค่ายค็อกซ์บาซาร์ได้เตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในค่าย ซึ่งมีชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคนอาศัยอยู่อย่างแออัดและเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างจำกัด โดยผู้ลี้ภัยเกือบครึ่งเป็นเด็กและเยาวชน

ชามิม จาฮาน ผู้อำนวยด้านสุขภาพขององค์กร Save The Children ในบังกลาเทศเขียนในแถลงการณ์ว่า ปัจจุบัน ไวรัสโคโรนาได้เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีคนเสียชีวิตจากโควิด-19 หลายพันคน และโรคระบาดนี้จะส่งผลให้บังกลาเทศถดถอยไปอีกหลายทศวรรษ

จาฮานยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในบังกลาเทศ เนื่องจากบังกลาเทศมีเครื่องช่วยหายใจเพียง 2,000 เครื่องสำหรับรองรับประชากร 160 ล้านคนทั่วประเทศ และแม้ก่อนหน้านี้ ทางการบังกลาเทศระบุว่า ในค่ายผู้ลี้ภัยมีเตียงพยาบาล 47 เตียงที่พร้อมรับผู้ป่วย และมีการเตรียมเตียงสำรองอีก 342 เตียงไว้รองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด

มานิช อะกราวัล ผู้อำนวยการคณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติประจำบังกลาเทศชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยอาศัยกันประมาณ 40,000 - 70,000 คนต่อตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1.6 เท่าของความแออัดของคนบนเรือสำราญไดมอนปรินเซส ที่มีอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อสูงกว่าในเมืองอู่ฮั่นของจีนช่วงพีคถึง 4 เท่า

เอธีนา เรย์เบิร์น หัวหน้าฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อเด็กชาวโรฮิงญาจากองค์กร Save The Children กล่าวว่า ในพื้นที่ที่คนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมกันได้ ล้างมือได้บ่อยๆ เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นวิกฤตอยู่ดี แต่ในค่ายค็อกซ์บาซาร์ ผู้ลี้ภัยอยู่กันอย่างแออัด แทบไม่มีโอกาสได้เว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ เป็นเรื่องยาก เพราะการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปได้ยาก

ด้าน Burmese Rohingya องค์กรของอังกฤษระบุว่า โรคระบาดจะต้องเป็น "สัญญาณเตือน" ให้บังกลาเทศยกเลิกการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากค่ายผู้ลี้ภัย เพราะการตัดอินเทอร์เน็ตในค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากจะทำให้หน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทำงานได้ยากขึ้นแล้ว ยังกีดกันผู้ลี้ภัยจากการเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยรักษาชีวิตของพวกเขาด้วย

 

 ที่มา : BBC, Al Jazeera, Save The Children