ไม่พบผลการค้นหา
"นพ.ยง" เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาขาย "ชุดตรวจโควิด-19" ชี้ส่วนใหญ่เป็นชุดตรวจหาภูมิต้านทาน 'IgG IgM' เห็นผลหลังมีอาการแล้ว 5 วันขึ้นไป วินิจฉัยระยะแรกไม่ได้ ส่วนชุดตรวจ 'ELISA' ใช้ 'เพื่อการวิจัย' เท่านั้น ยังไม่ได้ 'ใช้วินิจฉัยโรค'

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงกรณีชุดตรวจอย่างรวดเร็ว "โควิด-19" ที่มีการโฆษณาและขายทางออนไลน์ มีเนื้อหาดังนี้

ชุดตรวจอย่างรวดเร็วที่มีการขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน IgG IgM ซึ่งภูมิต้านทานดังกล่าว จะค่อยๆ ขึ้นหลังการติดเชื้อ มีอาการแล้ว 5 วันขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ในการที่จะมาวินิจฉัยโรค ที่มีอาการในระยะเริ่มแรก ชุดตรวจอย่างรวดเร็วส่วนใหญ่ จะมีความไวต่ำ และใช้ดูด้วยสายตา จึงยากที่จะบอกว่าเป็นบวกหรือลบ ในกรณีที่ขีดที่ขึ้นจางมาก ขออย่าเชื่อตามที่โฆษณา

สำหรับชุดตรวจหาภูมิต้านทาน ที่ใช้เครื่องมือตัว หรือที่เรียกว่า ELISA ยังต้องมีการเทียบค่า อีกมาก ปัจจุบันถึงแม้จะมีการจำหน่ายจะให้ใช้ในงานวิจัยเท่านั้น (RUO) research use only ยังไม่ให้นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษา

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า ในการทำชุดตรวจ ถึงแม้ว่าจะเป็นการตรวจหาตัวไวรัส ให้ได้อย่างรวดเร็ว วิธีการคิดค้นจะมีหลักการคล้ายๆกันหมด ไม่ใช่เราคิดได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ จะต้องมีขั้นตอน ในการศึกษาถึงหาความไว ในการตรวจ เช่น ตรวจได้กี่ตัวของไวรัส และจะต้องเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน ว่าความไวเป็นอย่างไร มีความถูกต้องเท่าไหร่ และจะต้องหาความจำเพาะ ว่ามีความจำเพาะกับไวรัส Covid 19 เท่านั้น ไม่ไปมีผลข้างเคียงให้ผลบวกปลอมกับไวรัส corona ตัวอื่นอีก 6 ตัว โดยเฉพาะ coronavirus ที่พบบ่อยและทำให้เกิดโรคหวัด 4 ตัว ได้แก่ OC43, 229E, NL63 และ HKU1 รวมทั้ง SARS CoV, MERS, และไวรัสที่ทําให้เกิดโรคทางเดินหายใจคนอื่นๆอีกจำนวนมาก และจะต้องทดสอบการทำซ้ำหลายๆครั้งว่าได้ผลเท่าเทียมกัน reproducible

ขั้นตอนในการทำชุดตรวจ จึงมีขั้นตอนมากมายกว่าจะถึงนำมาใช้จริงได้ วิธีการคิดในห้องปฏิบัติการ ไม่ยากเลย แต่วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความไวและความจําเพาะ มีขั้นตอนมาก อุปสรรคในบ้านเราคือการเก็บตัวอย่าง ไวรัส เกือบทุกชนิด ของโรคทางเดินหายใจไว้ เปรียบเทียบ ยังมีปัญหา

"ชุดตรวจที่มาจากต่างประเทศ ก็จะต้องผ่านการทดสอบ ความไวความจำเพาะ และความถูกต้อง ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค และที่มีอยู่ขณะนี้ยังเป็น research use only ใครที่จะซื้อมาใช้เอง รวมทั้งการโฆษณาทั้งหลาย ก็ขอให้คิดให้หนัก" ศ.นพ.ยง ระบุ

ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย