ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์พยากรณ์ฯ ชี้ จีดีพีทั้งปีติดลบระหว่าง 11.4% - 8.4% ย้ำไทยสูญเงินแล้ว 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขผู้ว่างงานเกือบ 2 ล้านคน รับสถานการณ์เลวร้ายได้กว่านี้ถ้าทีมเศรษฐกิจไม่เร่งปล่อยนโยบายที่มีประสิทธิภาพ

ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำปี 2563 ติดลบ 9.4% ในกรณีทั่วไป

หอการค้าประเมิน GDP เศรษฐกิจไทย
  • ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ทั้งยังมีแนวโน้มราว 25% ที่จีดีพีตกลงไปถึง 11.4% แต่มีโอกาสเพียง 15% เท่านั้น ที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่ากรณีพื้นฐานและติดลบในหลัก 8.4% 

นอกจากนี้ประมาณการอัตราการเติบโตประจำไตรมาส 2/2563 ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.จากศูนย์ประเมินเศรษฐกิจฯ ยังอยู่ที่ตัวเลขติดลบ 15% ในกรณีทั่วไป ติดลบ 16.8% ในกรณีเลวร้าย และติดลบ 14% ในกรณีที่ดีที่สุด จากทั้ง 3 กรณี ก็ยังนับว่าเป็นไตรมาสที่ประเทศไทยติดลบมากที่สุดเป็นประวัติกาณ์ โดยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2541 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง จีดีพีประเทศยังติดลบเพียง 12.5%

อธิการบดีฯ ชี้แจงว่า ตัวเลขในกรณีพื้นฐานมาจากการมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับใช้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งภายใต้แนวทาง Travel Bubble แบบจำกัดขอบเขต ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ส่งให้ประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ราว 7 ล้านคน คิดเป็นการลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 82.3% พร้อมกับการอีดฉีดเงินเข้าระบบอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จากงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท และปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ติดลบ 9%

ทั้งนี้ หากไทยไม่สามารถเปิดโครงการ Travel Bubble ได้ภายในปีนี้ ซึ่ง ผศ.ธนวรรธน์ ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้มากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายประเทศเริ่มกลับมามีการระบาดระลอกที่ 2 จนหลายพื้นที่เริ่มออกมาประกาศปิดเมืองอีกครั้ง

มากไปกว่านั้น หากงบประมาณในวงเงิน 4 แสนล้านบาท ของรัฐบาลไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงภายในปีนี้และปริมาณการค้าโลกหดตัวลงไปอีกซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 4 ประเทศสำคัญ อย่าง สหรัฐฯ อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ซึ่งมีลำดับขนาดเศรษฐกิจ เป็นอันดับที่ 1, 5, 7 และ 11 ของโลกตามลำดับ ทั้งยังมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเป็น 1 ใน 3 ของโลก ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง จีดีพีไทยอาจลงไปติดลบ 11.4 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์


3 ล้านล้านบาทอยู่ไม่ไกล 

ผศ.ธนวรรธน์ ชี้ว่า เมื่อประเมินโดยรวมอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าความเสียหายในครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ประเทศเสียเม็ดเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

เคอร์ฟิว-ปิดเมือง-โควิด19

จากตัวเลขดังกล่าว เม็ดเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ที่เสียไปเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่ อีก 2 ส่วนเกิดขึ้นจากการหดตัวในภาคอุตสาหกรรมราว 4.8 หมื่นล้านบาท และอีก 8 หมื่นล้านบาทสำหรับภาคเกษตรของประเทศที่เผชิญภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สถานการณ์โควิด-19 ระดับโลกไม่ดีขึ้น ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย อาจทำให้ประเทศต้องสูญเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวอีกเดือนละ 250,000 ล้านบาท หรือคิดรวมตั้งแต่ เดือน ส.ค.-ธ.ค.เป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท ส่งให้ผลรวมความเสียหายอาจขึ้นไปถึง 3 ล้านล้านบาท 


ได้แต่หวังว่า ทีม ศก.จะดี

ประยุทธ์ เหนื่อย

  • พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวต่อเนื่องจนผลกระทบเป็นโดมิโนมากระทบภาคประชาชนผ่านการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองไว้ที่ 2 ล้านคน ผศ.ธนวรรธน์ ชี้ว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังเข้ามาจำเป็นต้องทำงานอย่างหนักที่จะผลักดันเม็ดเงินเข้าไปในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

อธิการบดี หอการค้าฯ ย้ำว่า เม็ดเงิน 400,000 ล้านบาท จากแผนการฟื้นฟูต้องเร่งแปลงสภาพเป็นการจ้างงานทั้งชั่วคราวและถาวรให้ได้ ประกอบกับฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จำเป็นต้องเร่งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามามีส่วนในการประกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินเพื่อเร่งปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ถึงมือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้มากกว่านี้และให้เร็วกว่านี้ 

มาตรการเพิ่มเติมที่รัฐบาลสามารถเร่งแก้ไขได้ คือการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการปลดคนงานออกของภาคเอกชน พร้อมเพิ่มมาตรการกระตุ้นให้ชนชนกลางและชนชั้นสูงที่มีกำลังซื้อออกมาใช้เงินผ่านโครงการชิมช้อปใช้ โดยให้เพิ่มเพดานการคืนภาษีเป็น 50,000 บาท แทนของเดิมที่ระดับ 30,000 บาท 

เท่านั้นยังไม่พอ เหล่ามาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการก่อนหน้าที่จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ จำเป็นต้องมีการขยายออกไป เพราะมีแนวโน้มต่ำที่เศรษฐกิจไทยรวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ 

ยิ่งเมื่อดูจากผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจที่พบว่ากว่า 76% ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ยังต้องเผชิญหน้ากับยอดขายที่ลดลงเฉลี่ยเกือบ 40% จากยอดขายก่อนหน้าโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องหันพึ่งสินเชื่อทั้งในและนอกระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ผลสำรวจก็ยังพบว่า มีเพียงแค่ราว 40% ของเอสเอ็มอีเท่านั้นที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 40% นั้นจะเข้าถึงโครงการซอฟต์โลนด้วยซ้ำ 

ผศ.ธนวรรธน์ ย้ำในตอนท้ายว่า ภาพรวมตอนนี้ หอการค้าฯ มองไปในภาพที่ไม่บวกนัก และมองว่าเป้นภาระหนักของทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็ย้ำว่าข้อเรียกร้องที่เสนอไปเป็นการรวบรวมจากหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจริง และหวังว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ