ไม่พบผลการค้นหา
กีตาร์ Rickenbacker ตัวงาม, เสียงเพลงจากวงดิอิมพอสสิเบิ้ล, และรูปถ่ายอดีตนายกฯ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ นี่คือองค์ประกอบอันลงตัวในห้องทำงานของ ‘นิกร จำนง’ ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา

“แหลม มอร์ริสัน, กิตติ กีตาร์ปืน เพื่อนกันทั้งนั้น” ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผย “ช.อ้น ณ บางช้าง ยังบอกว่า คุณนิกรก็เป็นร็อคเกอร์ แต่ที่คุณแน่กว่าผม คือคุณไม่มีอาชีพนักดนตรี”

#VoicePolitics เปิดบทสนทนาทุกเรื่องราวกับ นิกร ตั้งแต่ 37 ปีบนถนนการเมือง ตลอดจนประสบการณ์ดนตรีที่อยู่ในชีวิตเขามานานกว่านั้น รวมถึงความเหมือนในความต่าง ระหว่างตัวเขากับ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผู้เป็นทั้งสหายผู้แทนราษฎร และสหายนักดนตรี 

‘วอยซ์’ ชวนเปิดใจรับฟังนักการเมืองผู้มากมิตร เล่าเรื่องชีวิตและดนตรี คลอกับเสียงเบสอันทุ้มนุ่มลึก

VOICE POLITICS_ นิกร จำนง .jpg

นักการเมืองในสภา นอกเวลานักดนตรี

ชื่อของ ‘นิกร จำนง’ แม้จะไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์เหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ แต่ชื่อของเขาไม่เคยห่างหายจาก 'พรรคชาติไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา' รวมถึงตระกูล ‘ศิลปอาชา’ และอาจด้วยการไม่เอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง จึงทำให้ชื่อของเขายังอยู่ในมุมที่เงียบสงบ แต่ยั่งยืน

นอกจากภาพลักษณ์นักการเมืองใจกว้าง พ่อบ้านศิลปอาชา รวมถึงกูรูด้านกฎหมายแล้ว อีกด้านที่ นิกร ไม่เคยหลบซ่อน และหลายคนอาจไม่รู้ คือบทบาทของนักดนตรีมือฉมัง ผู้หลงใหลในบทเพลง Soft Rock และกีตาร์เบส ซึ่งเขามีอยู่ในครอบครองอยู่หลายตัว

Patipat_นิกร จำนง_Logo__0018.jpg

เมื่อ 'วอยซ์' ร้องขอ เขาก็ยินดีโชว์กีตาร์ Rickenbacker สีเบอร์กันดีที่สุดแสนรักออกมา เขาย้อนประวัติว่ากีตาร์อายุ 60 ปีตัวนี้ เคยเป็นของสมาชิกวง ดิอิมพอสสิเบิล มาก่อน และได้ออกทัวร์ไปไกลถึงสวีเดน ในช่วงจังหวะนั้น สันติ กีระนันท์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็มายืนเชยชมกีตาร์ตัวงามด้วยความสนใจ

"Rickenbacker เป็นกีตาร์ที่คอยาว มีช่วงห่าง ผมดูว่ามันเท่ เวลาเราเล่นเราต้องยื่นมือไป" เขาว่า "คนที่ใช้จริงๆ ในโลก ตัวหลักก็คือ Paul MacCartney (มือเบสวง The Beatles)"

นิกร สนใจดนตรี ศิลปะ ตั้งแต่ยังเยาว์ สมัยมัธยมศึกษา โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา เขาเป็นสมาชิกวง The Borrow -- ที่มาของชื่อวงคือเครื่องดนตรีทุกชิ้นล้วนหยิบยืมเขามาทั้งสิ้น และหลังสอบได้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็ร่วมวง The Politics

voice pol นิกร.jpg

เขายังเล่าถึงรุ่นน้อง มช. ที่ชื่อ 'โก๊ะ' ซึ่งเขาผูกพันอย่างยิ่ง โก๊ะเป็นชายร่างสูง ที่เล่นดนตรีและร้องเพลงได้อย่างชำนาญ นอกจากเขาจะเป็นมือโซโลชั้นดีของ The Politics แล้ว เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้ นิกร หลงใหลในบทเพลง Soft Rock อีกด้วย

แต่น่าสลดใจที่โก๊ะจากไปเร็วเกิดคาดหมาย หลังจากตรอมใจจากรักที่ไม่สมหวัง โก๊ะประสบอุบัติเหตุจมน้ำที่อ่างแก้ว โดยไม่อาจช่วยเหลือได้ทัน

นิกร เล่าว่า หลังจากเขากลับมาพักที่กรุงเทพฯ น้องคนสนิทก็ได้กลับมาเยือนด้วยสถานะเหนือธรรมชาติ แต่เขาไม่ได้มีความรู้สึกกลัวใดๆ แต่กลับลุกมานั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

"ผมไม่กลัว ก็น้องเรานี่ เราก็แค่ปล่อยตัว เหมือนเราลุกขึ้นนั่ง คุยกับเขาในมุ้ง เขาก็ขอผมว่า ให้ช่วยเล่นดนตรีต่อไป เพราะเขาชอบดนตรี เราก็เคยจัดมหกรรมดนตรีทำบุญให้เขาที่ มช."

หรือนี่เองเป็นเหตุผลให้นักการเมืองที่ชื่อ นิกร ไม่เคยสลัดทิ้งบทบาทนักดนตรีของตน เพราะนอกเหนือความหลงใหลแล้ว มิตรภาพที่ได้รับฝากฝังไว้ ก็เป็นเหมือนสัญญาที่ต้องรักษา

เรื่องราวที่ได้รับฟัง ชวนให้ประหวัดคิดถึงเนื้อหาท่อนหนึ่งในเพลง Soldier of Fortune ของวง Deep Purple บทเพลงที่ทั้งคู่ต่างชื่นชอบ

"And the songs that I have sung, echo in the distance like the sound of a windmill going round, I guess I'll always be a soldier of fortune."

Patipat_นิกร จำนง_Logo__0028.jpg

  • วิถีต่าง แต่เส้นทางเดียวกัน

'วอยซ์' ถามถึงภาพถ่ายที่ นิกร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 ก.ค. 2566 ผ่านไปไม่นาน ในภาพมีชาย 2 คน อยู่บนเวที คนหนึ่ง นิกร ที่กำลังบรรเลงกีตาร์เบส และข้างกายคือ จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดมาหมาดๆ และได้กลับเข้าสภาฯ ในรอบ 17 ปี กำลังโชว์ลีลาในบทบาทนักร้องนำ

นิกร จำนง จาตุรนต์ ฉายแสง ดนตรี.jpg

นิกร เล่าว่า เขาทั้ง 2 รวมถึงกลุ่มเพื่อนมิตรมักนัดพบสังสรรค์และเล่นดนตรีด้วยกันเสมอ จนถึงขั้นวางเครื่องดนตรีไว้ที่โรงแรมประจำได้เลย ภาพนั้นบอกเล่าหลากหลายเรื่องราว ต่างคน ต่างขั้ว ต่างสถานะ ขณะที่คนหนึ่งได้เป็น ส.ส. อีกครั้งในรอบทศวรรษ อีกคนก็เป็น ส.ส. สอบตก หลังเป็นมาร่วม 20 ปี

เส้นทางของ นิกร และ จาตุรนต์ เริ่มมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้บรรจบกัน ทั้งคู่เป็นนักศึกษาที่ มช. รุ่นเดียวกัน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง นิกร ประธานชมรมดนตรี รับรู้กิตติศัพท์ของ จาตุรนต์ ในฐานะนักกิจกรรมและนักปราศรัยตัวยง โดยที่ไม่เคยรู้จักกันใกล้ชิด

และเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ความรุนแรงปะทุหนัก จาตุรนต์ ล่าถอยเข้าป่า ส่วน นิกร ยืนหยัดสู้ต่อในเมือง อุดมการณ์ต่อต้านความรุนแรงของเขา ชัดเจนตั้งแต่เวลานั้น

"หลักคิดของผมคือ ความขัดแย้ง ผมรับไม่ได้ ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องอำนาจกับอำนาจ มีการสลับกัน ผมทนคนไทยทะเลาะกัน เหมือนทหารป่ากับทหารเมือง ผมรับไม่ได้ การทำร้ายกันเอง ผมถือเป็นคนไทยด้วยกัน" นิกร กล่าว

voice pol นิกร.jpg

ในเวลาต่อมา นิกร เริ่มนำความรู้ด้านรัฐศาสตร์ และ Marketing Politics ที่ร่ำเรียนจากเทกซัส สหรัฐอเมริกา มาลงสมัครการเมืองระดับชาติครั้งแรกที่บ้านเกิด จ.สงขลา เข้าปะทะกับยักษ์ใหญ่ ประชาธิปัตย์ อย่างไม่เกรงกลัว

เขาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคก้าวหน้า หัวหน้าพรรคในเวลานั้นคือ อุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งแม้ไม่มั่นใจว่าจะได้ชัยชนะ แต่เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ของ นิกร

"เราก็แค่อยากจะเลือก ส.ส.ใหม่ๆ หนุ่มๆ บ้าง ก็ไม่มี หันไปหันมา ก็ไปเจอเข้าในกระจก ว่าเฮ้ย ทำไมเราไปหวังคนอื่น เราเองก็ทำงานนี้ได้" นิกร เล่าความคิดเบื้องหลังการลงสมัครครั้งนั้น ไม่ได้คาดหวังชัยชนะ เพียงต้องการความเปลี่ยนแปลง

และอาจจะด้วยจิตวิญญาณหรือความเป็นคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้ แม้เขาจะแพ้ดังคาด แต่ยังกวาดคะแนนมาได้ถึง 39,000 เสียง จากที่เคยประเมินว่าจะได้เพียง 37,000 เสียง

เขาใช้วิธีเดิมในการลงสมัคร ส.ส. สมัยต่อมา แล้วก็ได้สมใจ ในปี 2531 เขาได้มาอยู่ในสภาเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเวลานั้นสังกัดพรรคประชาชน ก่อนที่ปี 2532 ทั้งคู่จะได้อยู่ในพรรคชาติไทยร่วมกันในเวลาสั้นๆ

"วิถีวันนั้นก็ยังเป็นเหมือนเดิม คือ จาตุรนต์ เขายังต้องการจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่ผมต้องการเปลี่ยนแปลงคน การเมืองเหมือนกัน แต่วิถีต่างกัน จนถึงปัจจุบันนี้"

"เพราะผมเชื่อว่าถ้าสังคมไม่เปลี่ยน เปลี่ยนเพียงระบบ ก็วนกลับมาเอง ผมเชื่อในทฤษฎีของอหิงสา"

นิกร จำนง_Logo__0028.jpg

นิกร หยิบยกหลักคิดว่า เสรีภาพและประชาธิปไตยที่ได้มาจากชีวิตและเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์ จะได้ความดีมาอยู่เพียงสั้นๆ แต่ความชั่วร้ายจะเข้ามาต่อเนื่องยาวนาน

"ผมจึงเชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไรต้องไม่มีการสูญเสีย เพราะหลักการเดิมคือ คนไทยสู้กับคนไทย ผมรับไม่ได้"

Patipat_นิกร จำนง_Logo__0011.jpg

  • ก้าวข้ามขัดแย้ง ร่วมแรงสลายขั้ว

"ผมจะเป็นคนประนีประนอม แล้วก็เป็นแบบนี้ ผมพยายามสร้างมิตร จนปัจจุบันนี้" นิกร เล่าแนวคิดการทำงานการเมืองของเขา

เขายังหยิบยกคำสอนสำคัญของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยกล่าวกับเขาว่า

"นิกร คุณจำไว้นะ ในสภาฯ วันหนึ่งคุณสร้างศัตรูได้ 20 คน แต่ 20 วันในสภา คนสร้างมิตรคนหนึ่งไม่รู้ได้หรือเปล่า และหากคุณมีศัตรูมากกว่าครึ่งในสภา ให้คุณเลิกเล่นการเมือง เพราะคุณจะทำอะไรไม่สำเร็จสักเรื่อง"

เป็นหลักการที่ง่ายแต่จริง เพราะสุดท้ายแล้วแม้จะผ่าน พ.ร.บ.สักฉบับ ก็ต้องอาศัยเสียง ส.ส. เห็นชอบเกินกว่ากึ่งของสภาฯ เสมอ

ตราบจนปัจจุบัน นิกร ได้เรียนรู้มากมายจากวาทะของ 'น้าชาติ' และหากเป็นไปได้ เขาอยากจะบอกอดีตหัวหน้าพรรคว่า "ในทางกลับกัน หากเรามีมิตรเกินครึ่งของสภา เราก็สามารถทำอะไรได้เยอะเหมือนกัน"

เขายกตัวอย่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับอาชีพประมง ซึ่งเขาได้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และด้วยความเป็นผู้มากมิตรของเขา ในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ได้ทันเฉียดฉิวก่อนหมดสมัยประชุมและมีการยุบสภา แม้สถานการณ์ช่วงนั้นจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

Patipat_นิกร จำนง_Logo__0014.jpg

ทั้งนี้ เป็นเพราะหลักคิด "เรามีแต่มิตร ทุกพรรค ไม่ว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นมิตรกันหมด"

อย่างไรก็ตาม ในห้วงการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา สโลแกนหนึ่งซึ่งเป็นที่จดจำอย่างมากคือ 'ก้าวข้ามความขัดแย้ง' ของ พรรคพลังประชารัฐ ที่ชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มาเป็นโซ่ข้อกลาง สร้างความปรองดอง

แท้ที่จริงแล้ว สโลแกนดังกล่าว พรรคชาติไทยพัฒนาเคยใช้มาตั้งแต่ 2562 ด้วยคำว่า 'ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมแรงปฏิรูปประเทศ' เมื่อครั้ง กัญจนา ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

"เราก็ดีใจสิว่ามีคนเอาไปใช้ จะเป็นไรล่ะ ความรักชาติไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของใคร" นิกร กล่าวด้วยรอยยิ้ม

“การจะเดินเส้นทางนี้ ทุกคนได้ทำก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เราจะไปถือเป็นของใครทำไม"

voice pol นิกร.jpg

แต่จนแล้วจนรอด ผลการเลือกตั้งก็ออกมาเป็นที่ประจักษ์ พรรคก้าวไกล ได้คะแนนสูงสุดอย่างที่ทุกฝ่ายคาดไม่ถึง 'วอยซ์' ถาม นิกร ว่า ด้วยแนวนโยบายและบุคลิกของก้าวไกล ผู้ที่เชื่อมั่นในการประนีประนอมอย่างเขารู้สึกอย่างไร

"ที่ผมกลัวก็คือว่า แนวทางอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกก็ได้"

นิกร ยกคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยพูดไว้ในซอยสวนพลู ในช่วงนั้นมีกระแสเบื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นิกร ขอสงวนนาม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้กล่าวว่า "ความผิดไม่ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่เพราะสังคมไทยขี้เบื่อ อยู่สัก 2-3 ปีก็เบื่อแล้ว เหมือนอยู่กับขุนแผน คือประชาธิปไตย แต่อยู่สักพักก็จน เบื่อ ไปหาขุนช้าง ซึ่งคือทหาร อยู่ไปสักพักก็เหม็นหัวล้าน เปลี่ยนข้างอีก นี่เป็นปกติวิสัย"

นิกร อ้างคำพูดนั้นมาตีความผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าการเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐบาลต่อเนื่องถึง 8 ปี อาจนำไปสู่จุดของความเบื่อของประชาชนได้ "ยิ่งมีของใหม่ บวกกับความอยากจะเปลี่ยน จึงออกมาเป็นแบบนี้"

'วอยซ์' ถาม นิกร ว่า สังคมประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความเห็นต่างนี้ เป็นไปได้หรือที่จะไม่มีความขัดแย้งกันเลย ดังที่ นิกร เชื่อ?

"มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันต้องอยู่ในระดับ ไม่ใช่ว่าพุ่งเข้าชนกันแบบนี้" เขาตอบ "เราก็ต้องทำการเมืองต่อไป การเมืองสายลดละความขัดแย้ง ปรับให้เข้ากัน เราก็เป็นทางเลือกอีกทาง"

voice pol นิกร.jpg

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาใกล้จุดจบ เราขอให้ นิกร เทียบเคียงบทบาทของตัวเอง ในวงดนตรี และในวงการเมือง

เขามองว่าตัวเองเป็นเหมือน 'มือเบส' ของทั้งสองวง

เขามองตัวเองว่าชอบบรรเลงแบบประคองอยู่ด้านหลัง คอยคุมจังหวะจะโคน เปรียบดังเสียงทุ้มลึกของกีตาร์เบส ที่แม้ผู้ฟังอาจไม่สังเกตเห็นทันที แต่เสียงนั้นคงอยู่เสมอ คอยเคียงข้างติดตามจนจบเพลง

และทันทีหากเสียงเบสเงียบลง เพลงนั้นก็เหมือนจะขาดอะไรไป

เช่นเดียวกับวิถีของ นิกร ที่แม้หนนี้เขาจะไม่ได้สถานะ ส.ส. แต่บทบาทของเขาก็ยังต้องดำเนินไปอย่างขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในฐานะของผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา มือเบสประจำตัวของนักร้องนำชื่อ วราวุธ ศิลปอาชา

และคงต้องจับตามองต่อไปว่า ในรัฐสภาจะมี ส.ส. คนใด ที่บรรเลงการเมืองแบบ 'สร้างมิตร' ได้เช่น นิกร อีกหรือไม่

หรือเมื่อรัฐสภาขาดมือเบสผู้นี้ไป การฟาดฟันขัดแย้งก็จะยิ่งแยกห่างจนเกินประสาน...

นิกร VoicePolitcs IMG_7723.jpegนิกร จำนง_Logo__0004.jpg

ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog