ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัวกลุ่ม 'Re-solution' ผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ยัน! ยกเลิกวุฒิสภา-สังคายนาองค์กรอิสระให้ยึดโยงประชาชนที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสถาปนากฎหมายสูงสุด

กลุ่ม 'Re-solution' แถลงข่าวเปิดตัวองค์กร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมเสวนา 'RE- SOLUTION : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่' โดยแบ่งเป็นช่วงในแต่ละประเด็น

ปิยบุตร แสงกนกกุล.jpg

'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงในประเด็น RE-THINK ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ว่า วันนี้เมื่อ 23 ปี ที่แล้ว ไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยอมรับเป็นฉันทามติกันว่า เป็นฉบับประชาชน ฉบับปฏิรูปการเมืองและเป็นผลพวงการต่อสู้ของประชาชน แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็ถูกทำลายลงและยังไม่มีฉันทามติใหม่เกิดขึ้นอีก 

ปิยบุตร ยืนยันว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน ซึ่งอำนาจนี้ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด หากมีข้อบกพร่องก็ใช้กระบวนการแก้ไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับที่ผ่านมา ล้วนใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญหรือการรัฐประหารแทบทั้งสิ้น ขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก ขณะที่อารมณ์ของผู้คนและสังคมที่สะสมกำลังมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในการต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าสถานการณ์สุกงอมจนถึงขั้นรัฐธรรมนูญ 2560 หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงหรือมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และถึงเวลายุติรัฐธรรมนูญ ที่เป็นวงจรแห่งการแก้แค้นเอาคืน อย่างรัฐธรรมนูญปี 2549, 2550 และ 2560 ซึ่งจะเป็นการยืนยันปัญหาตั้งแต่ 2475 ที่มาจนวันนี้แล้วยังเคลียร์กันไม่จบ คืออำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร หรือประเทศนี้ใครเป็นเจ้าของนั่นเอง

ไอติม พริษฐ์.jpg

ด้าน 'พริษฐ์ วัชรสินธุ์' ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวในประเด็น RE-MOVE ถึงเวลาสภาเดี่ยว (ConLab) ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาทั้ง ที่มา, กระบวนการได้มาและเนื้อหา ทำให้ประชาธิปไตยและพัฒนาการทางการเมืองของไทยถดถอยลงไปกว่า 20 ปี และเมื่อพูดถึงการแก้ไข จะเลี่ยงไม่พูดถึง ส.ว.ไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจรัฐประหารแล้ว ส.ว.ชุดปัจจุบันยังมีความวิปริตอย่างน้อย 5 ประการที่ต้องกำจัด คือ 1. อำนาจเรื่องนายกรัฐมนตรี 2. ขัดขวางได้ทุกการปฏิรูปควบคุมได้ทุกโครงสร้าง 3.​ ที่มาด่างพร้อยและไร้มาตรฐาน 4. ขาดความหลากหลายและเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ 5. บกพร่องในหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุล

พริษฐ์ ยืนยันว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องเดินไปข้างหน้าด้วยการมีสภาเดี่ยวหรือไม่ต้องมีวุฒิสภา ซึ่งมีข้อดีกว่าการมีสภาคู่ 5 ข้อคือ 1. ทันใจกว่าในการออกกฎหมาย 2. ประหยัดกว่าในการใช้งบประมาณ 3. เสียเวลาน้อยกว่าในการออกแบบ 4. เป็นประชาธิปไตยกว่าในโครงสร้างทางการเมือง 5. เป็นทางเลือกที่นิยมกว่าในกระแสโลกปัจจุบัน

ส่วนหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารและถอดถอนนักการเมือง ต้องเพิ่มอำนาจของประชาชน, การกระจายอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลของรัฐให้เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงเพิ่มพื้นที่ให้ผู้มีความเชี่ยวชาญในกรรมาธิการต่างๆ ส่วนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องได้เสียงข้างมากทั้งจาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และส่วนที่มีการกังวลว่า จะอันตรายหากไม่มี ส.ว.มาตรวจสอบฝ่ายบริหารนั้น พริษฐ์ มองว่า สิ่งที่อันตรายกว่าคือ การมี ส.ว.ที่รับรองการกระทำทุกอย่างของฝ่ายบริหาร อย่างที่เป็นม่และเป็นอยู่ในปัจจุบัน

รังสิมันต์ โรม.jpg

'รังสิมันต์ โรม' รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็น RE-FORM ถึงเวลารื้อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ว่า ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่ค่อยมีจุดยึดโยงกับประชาชนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร รวมถึงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วย และปัจจุบันต้องยอมรับว่าไทยอยู่ในสภาวะ 'นิติสงคราม' คือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ใช้กระบวนการทางกฎหมายทำลายฝ่ายตรงข้าม มีการยุบพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย พรรคแล้วพรรคเล่า 'เหมือนนายพรานที่ยิงนกร่วงทีละตัว' โดยศาลรัฐธรรมนูญมีและใช้อำนาจขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไม่เคยจัดการกับการทุจริตของผู้มีอำนาจได้ 

รังสิมันต์ ระบุด้วยว่า ถ้ามีใจที่เป็นธรรม คิดไตร่ตรองเยี่ยงวิญญูชนจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจึงนำพาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงจรอุบาทว์ด้วย ซึ่งปัญหาหลักประการแรกคือ "ที่มา" จากคณะรัฐประหารนั่นเอง พร้อมเสนอที่สำคัญคือ ประชาชนต้องสามารถฟ้องศาลปกครอง เอาผิดผู้ตำแหน่งในองค์กรอิสระได้, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้แก้ต่างให้กับรัฐ ไม่เช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมี กสม. และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรใช้เสียง 2 ใน 3 ถอดถอนทั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ สามารถใช้อำนาจอย่างล้นเกินโดยไม่รับผิดชอบ

ยิ่งชีพ iLaw.jpg

'ยิ่งชีพ อัชชานนท์' ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวถึงประเด็น RE-START ว่า โอกาสเดียวในการ RE-START คือ ต้องเริ่มร่างยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น การแก้รายมาตราไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องรื้อมรดกของ คสช.ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อน จึงจะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยได้

แม้กระบวนการได้มาซึ่ง สสร.ต้องใช้เวลาแต่ต้องยืนยันหลักการพื้นฐานของ สสร. 5 ข้อคือ 1. สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยไม่มีโควต้าพิเศษให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 2. ต้องใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. 3. ลงสมัครเป็น กลุ่มก็ได้ โดยใช้วิธีคำนวณแบบปาร์ตี้ลิสต์ของของ ส.ส. 4. ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุคนที่จะสมัครเป็น สสร. 5. การเลือกตั้ง สสร.และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องดำเนินการภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่บรรยากาศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับ กลุ่ม 'Re-solution' ประกอบด้วย กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, iLaw, คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล มีเป้าหมายทำงานความคิด คือ รณรงค์ความคิดและรวบรวมความเห็นประชาชนทุกกลุ่ม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การมีบทบาทเป็นคลังความคิด หรือ 'Think Tank' เพื่อเสนอความคิดที่ก้าวหน้าใหม่ๆ