สมัยก่อนเวลาใครบริจาคเงินสร้างศาสนสถาน ก็มักจะได้รับการประกาศเกียรติแห่งความใจบุญ ด้วยการประทับชื่อลงบนซุ้มรั้ว ประตู หน้าต่าง กำพงกำแพง ที่แปลกๆ ที่เคยเห็นมาก็เช่น การแปะชื่อผู้บริจาคที่กรงขังหมาวัด หรือเขียนชื่อติดกับใบพัดลมเพดานห้องน้ำ เรียกได้ว่าบุญอินยัวร์แอเรีย ตามติดไปทุกที่ที่ตาเห็น
การแปะชื่อคนบริจาคตามสถานที่-สิ่งของต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาในอดีต แต่ในยุคนี้การแปะชื่อทำได้ง่ายกว่านั้น เพียงแคปหน้าจอโอนเงินและโพสต์ลงใต้คอมเม้นต์รับบริจาค พร้อมพิมพ์คำว่า "สาธุ" หรือ "บริจาคแล้วนะคะ" เพียงเท่านี้ก็อิ่มใจได้บุญ หลายคนโพสต์ด้วยว่า “บริจาคไปแล้วเขาจะเอาไปทำอะไรก็ช่าง ถ้าเราสบายใจเราก็ได้บุญแล้ว...”
การจารึกชื่อผู้บริจาคทาน หรือสร้างปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ เป็นธรรมเนียมมานาน นานขนาดไหนไม่รู้ แต่ในโบราณวัตถุหลายรายการมีหลักฐานนี้อยู่ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยพุทธศตวรรษที่ 21-22 ของวัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ที่ฐานก็จารึกชื่อคนสร้างพระพุทธรูปชื่อ "พ่อบุญ"
หรือพระพุทธรูปสุโขทัย สมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 20 พบที่วัดลาวพันลำ จ.สุโขทัย องค์นี้ที่ฐานมีจารึกยาวๆ กล่าวถึงผู้มีศรัทธาร่วมกันสร้างพระพุทธรูป ทั้งนายญี่บุญ, แม่จัน, นางเริ่ม, นางไร, เจ้าไสอานนท์, นางยอด
(ที่มาภาพ : https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/139)
การจารึกชื่อแบบนี้อาจมีที่มาจากความเชื่อเรื่อง "ภัทรกัป" หรือยุคพระเจ้าห้าพระองค์ เพราะตามคตินี้เชื่อว่ายุคที่เราเกิดมามีพระศาสดา 5 พระองค์ แต่ละองค์มีอายุพระศาสนาต่างๆ กันไป โดยตอนนี้เราอยู่ในยุคของพระเจ้าองค์ที่ 4 คือ "พระสมณโคดม" อายุศาสนา 5,000 ปี (ตอนนี้ 2563 ปีแล้ว) ถ้าสิ้นยุคไปก็จะเข้าสู่ยุคใหม่คือ "ยุคพระศรีอริยเมตไตรย" อันเป็นพระเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัป
คนโบราณเขาเชื่อว่าต้องจารึกธรรม หรือสร้างรูปของพระพุทธเจ้าในยุคเราเอาไว้ เพื่อให้คนในยุคพระเจ้าองค์ต่อไปจดจำรำลึกถึงพระธรรมคำสอนได้ ทำให้มีการสร้างพระพิมพ์ หรือจารึกพระคาถาต่างๆ มากมาย เป็นการสืบทอดพระศาสนา ซึ่งอาจหมายรวมถึงการ "จารึกชื่อผู้สร้าง" หรือถวายธรรมทานต่างๆ ด้วย ทำนองว่าเป็นการจารึกหลักฐานแสดงตัวตนว่าครั้งหนึ่งในยุคพระเจ้าองค์ที่ 4 เราก็เคยเป็นผู้ทำบุญทำทานมาก่อน เช่น ฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร จ.น่าน ราวพุทธศักราช 1969, 1970 มีบันทึกว่า "สมเด็จเจ้าพระยาสารผาสุม" ผู้เสวยราชย์ในนันทปุร ได้สถาบก (สร้าง) พระพุทธรูป 5 องค์ "เพราะจักให้คงในศาสนาห้าพันปี"
การทำบุญนั้นถือเป็นการสืบทอดพระศาสนาก็จริง แต่ในทางหนึ่งถือเป็นเครื่องมือหลุดพ้นจากกิเลส คือทำให้ได้รู้จักสละทรัพย์ สละแรงกำลัง เพื่อจะได้ไม่ยึดติดห่วงหาในสิ่งที่มีเกิดมีดับ อันเป็นหนทางไปสู่การปล่อยวาง บรรลุมรรคผลธรรมได้
แต่ครั้นจะมาอธิบายแบบนี้ก็ไม่ค่อยจูงใจเท่าไหร่ อะไรคือบรรลุ? ปล่อยวางแล้วจะมีความสุขยังไง? ด้วยเหตุนี้ผลแห่งการทำบุญจึงมักถูกอธิบายด้วยเรื่องเสริมแรงจูงใจอื่นๆ ตัวอย่างชัดเจนอยู่ใน "ไตรภูมิพระร่วง" โดยวรรณกรรมสมัยสุโขทัยเรื่องนี้พูดเรื่องบุญบาปไว้เยอะมากอธิบายสามวันแปดวันไม่หมด แต่ที่น่าสนใจคือการแบ่งชั้นมนุษย์ตามลักษณะการทำบุญทำบาปไว้ 4 อย่าง คือ
คนนรก หมายถึงคนทำบาปฆ่าสัตว์
คนดิรัจฉาน หมายถึงคนไม่มีความเมตตากรุณา
คนมนุษย์ หมายถึงคนที่ละอายต่อบาป
คนเปรต หมายถึง "คนที่ไม่เคยทำบุญมาก่อน" ไม่ทำความดี แต่ไม่เบียดเบียนใคร
นอกจากนี้ ยังระบุว่าหนึ่งในบาปกรรมที่ทำให้คนตกนรก 8 ขุมใหญ่ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็คือ "การตระหนี่ทรัพย์ ไม่ให้ทาน และห้ามผู้อื่นทำทาน" ส่วนใครทำบุญไว้มากก็อาจจะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชกันเลยทีเดียว
เรียกว่าจากวรรณกรรมเรื่องนี้ การทำบุญหรือไม่ทำบุญ มีแรงจูงใจทั้งแบบ "ให้รางวัล" และ "การลงโทษ" แน่นอนว่าธรรมชาติมนุษน์เราไม่เลือกการลงโทษอยู่แล้ว ขณะที่การทำดีก็เชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนในชาตินี้ชาติหน้า จึงไม่แปลกนักที่การทำบุญบริจาคทรัพย์บริจาคสิ่งของ จะเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีของเราอย่างลึกซึ้ง จนอาจลืมไปถึงกุศโลบายที่แท้จริงของการทำบุญว่าเป็นเครื่องมือสู่การปล่อยวาง เกิดเป็นภาวะกระหายบุญ กระหายความดี บริจาครัวโอนไว โดยไม่มองถึงผลกระทบ ที่บางครั้งความใจบุญอาจสบช่องให้คนไม่ดีมาใช้ประโยชน์ได้
ลองนึกภาพคนอยากปล่อยนก ไปซื้อนกในกรงมาปล่อย จุดประกายอาชีพนักจับนกมาขังกรงให้คนใจบุญมาซื้อวนลูปไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่เคสเด็กป่วยและตายปริศนา แต่คนแม่ที่ออกมารับบริจาคกลับมีเงินหมุนเวียนในบัญชีถึง 15 ล้านบาท เช่นนี้คนบริจาคได้บุญจริงหรือ? หรือยังคิดว่า “บริจาคไปแล้วเขาจะเอาไปทำอะไรก็ช่าง ถ้าเราสบายใจเราก็ได้บุญแล้ว...”
จารึกฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร รระบุว่าสมเด็จเจ้าพระยาสารผาสุม ผู้เสวยราชย์ในนันทปุร ได้สถาบกพระพุทธรูปเพื่อผดุงพระพุทธศาสนา (ที่มาภาพ : https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/86)