ไม่พบผลการค้นหา
'พนัส ทัศนียานนท์' ระบุ 'สฤณี' เขียนบทความวิจารณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา ภายหลังที่ศาลพิพากษาแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ส่วนจะผิดตามอาญา มาตรา 198 หรือไม่ ต้องแจ้งความเพื่อให้มีการสอบสวน แล้วส่งให้อัยการพิจารณาว่าเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

จากกรณี น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล โพสต์เฟซบุ๊กกรณีได้รับหมายเรียกศาลฎีการจากข้อกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลจากการเขียนบทความลงในกรุงเทพธุรกิจนั้น

29 ส.ค. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ น.ส.สฤณี พร้อมระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panat Tasneeyanond ว่า

"ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32

(1) ...................,.............,,,,,,,,.....,.,,...,,,,

"2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดย วิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็น โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความ รู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือ พยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่า จะทำให้การพิจารณาคดีเสียความ ยุติธรรมไป เช่น........."

การกล่าวหรือแสดงข้อความที่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายมาตรานี้ จะต้องเป็นการกระทำในระหว่างการพิจารณาคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

เรื่องนี้คุณสฤณีเขียนบทความวิจารณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา ภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายมาตรานี้

ส่วนจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 หรือไม่ จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดดังกล่าวตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดโดยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา กล่าวคือจะต้องมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนแล้วส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

ไม่ใช่ออกหมายเรียกตัวไปไต่สวนว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ดังเช่นในกรณีนี้ เพราะกรณีไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวข้างต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :