ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ยุติธรรม กำชับ ดีเอสไอ-ป.ป.ส. ช่วยงานศูนย์โควิด-19 ตรวจสินค้าป้องกันเชื้อไม่ได้มาตรฐาน-การกักตุน-แก๊งทำใบรับรองแพทย์ปลอม ย้ำให้ความร่วมมือรัฐบาลคืนงบประมาณกระทรวงช่วยประชาชน ยันการผลักดันกระท่อมเพราะต้องการเพิ่มอาชีพให้เกษตรกร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัญมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ศาตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมต่างๆ เข้าร่วมประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม

โดยการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงมติคณะรัฐมนตรีได้สั่งการ อาทิ เรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด -19 รวมถึงเรื่องการนำกระท่อมมาแปรรูปเป็น 4 คูณ 100 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความเป็นห่วง

จากนั้นนายสมศักดิ์ จึงได้ชี้แจงว่าทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงต้องดำเนินการ เพราะงบประมาณที่หักจากกระทรวงไปนั้นก็ไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงเอกชนที่ได้รับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 เราต้องให้ความร่วมมือเต็มที่ 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องการนำกระท่อมมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม 4 คูณ 100 ขอย้ำอีกครั้งว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ต้องอธิบายให้ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า กระทรวงไม่ได้ต้องการเปิดเสรีเพื่อให้มาแปรรูปเพื่อมีผลในการกดประสาท ดื่มแล้วเมา แต่สิ่งที่ตนต้องการผลักดันเพราะใบกระท่อมมีประโยชน์สามารถนำไปทำยาได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มอาชีพให้เกษตรกรในการเพาะปลูกเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ คดีความก็จะลดลง มันมีแต่ประโยชน์ แต่หากพบว่านำไปแปรรูปแบบไม่ถูกต้องก็ต้องจับกุมดำเนินคดีต่อไป

“กระท่อมไม่ได้เปิดเสรี เราต้องทำความเข้าใจกับสังคม หน่วยงานภาครัฐ การแก้กฎหมายยังอยู่ที่กฤษฎีกา สำนักงาน ป.ป.ส. ช่วยทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับผู้เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นของดีที่มีประโยชน์มันจะเสียไป” รมว.ยุติธรรม กล่าว  


กำชับ DSI-ป.ป.ส. ช่วยงานศบค.

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังที่ศูนย์โควิด-19 ได้เพิ่มกรอบการตรวจสินค้าของศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ และมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ สำนักงาน ป.ป.ส. เข้าไปทำหน้าที่ ว่า ต้องช่วยกันตรวจสอบสินค้าเกินราคา กักตุน และสินค้าปลอม เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังต้องคอยสอดส่องกลุ่มที่ทำใบรับรองแพทย์ปลอมด้วย เพราะพวกนี้ก็ทำเพื่อโกงบริษัทประกันภัย และรวมถึงปลอมเพื่อเดินทางเข้าจังหวัดต่างๆ โดยง่ายซึ่งเป็นความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เวลานี้ทางกรมเดินหน้าอย่างเต็มที่ และเตรียมที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบ 2 จุดว่า สินค้าได้คุณภาพหรือไม่ นอกจากนี้ ดีเอสไอยังเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนพบถึง 480 เรื่อง เป็นเรื่องหน้ากากอนามัย 476 เรื่องมีผู้เสียหายรวมกว่า 6 ล้านบาท ส่วนอีกเรื่อง 4 เรื่อง เป็นเรื่องของแอลกอฮอล์ ที่ร้องเรียนเข้ามาซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :