ผลสำรวจจากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ เผยว่า จีนพยายามอย่างหนักในการใช้ "อำนาจอ่อน" (Soft power) แผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจีนพยายามกระชับมิตรระหว่างประเทศต่อบรรดาชาติในอาเซียนด้วยการมอบความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงการที่จีนส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิดให้กับหลายชาติ หรือที่เรียกว่า การทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) แต่ลัพธ์ที่ได้กลับล้มเหลว
ผลโพลซึ่งสำรวจความคิดเห็นช่วงระหว่าง 18 พ.ย. 63 ถึง 10 ม.ค. 64 จากผู้เชี่ยวชาญในหลายวงการตั้งแต่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ด้านการแพทย์ ไปจนถึงคนในแวดวงธุรกิจจำนวน 1,032 คน มีความเห็นว่า จีนมีบทบาทในแง่ให้ความช่วยเหลือต่อภูมิภาคนี้ถึง 44.2% ตามด้วย ญี่ปุ่น 18.2% สหภาพยุโรป 10.3% และสหรัฐฯ รั้งท้ายที่ 9.6% สะท้อนให้เห็นว่าท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม แม้โพลข้างต้นจะชี้ว่าจีนจะได้ใช้ความพยายามในการแผ่อิทธิพลในอาเซียน แต่ผลลัพธ์ที่ปักกิ่งได้รับกลับสวนทาง โดยผลสำรวจเดียวกันนี้ซึ่งใช้คำถามว่า "หากต้องถูกบังคับให้เลือกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกรณีที่เป็นศัตรูกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" ผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 61.5% เลือกสหรัฐฯ มากกว่าเลือกข้างจีน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 7.9% เทียบจากผลสำรวจปีที่ผ่านมา คาดว่าตัวเลขดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะมีบทบาทต่อภูมิภาคนี้มากขึ้น
บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการในอาเซียนราว 76.3% ยังมองอีกว่า จีนยังคงจะมีบทบาทในภูมิภาคนี้ต่อไป โดยกว่า 80% มองว่า จีนมีอิทธิพลอย่างมากโดยเฉพาะต่อ ลาว ไทย สิงคโปร์ เมียนมา และกัมพูชา ดังจะเห็นว่าจีนได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่างๆ ลักษณะเดียวกับที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่นเคยทำ
ขณะเดียวกัน 49.1% มองว่าจีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางการเมืองมากสุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ ที่ 30.4% แต่ในบรรดาผู้ที่โหวตให้ปักกิ่งกลับมีมุมมอง 'เชื่อมั่นเพียงน้อยนิด' ไปจนถึงแทบ 'ไม่เชื่อมั่นเลย' ว่าจีนกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือเป็นผลประโยชน์โดยรวมต่ออาเซียน โดยส่วนใหญ่มองว่าจีนกำลังมุ่งมั่นตั้งใจคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยประเทศของชาติอื่นๆ ส่วนประเทศในเอเชียที่ชาวอาเซียนให้ความเชื่อมั่นมากสุดคือ ญี่ปุ่น โดยผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าญี่ปุ่นมีท่าทีที่ดีต่อโลกราว 67.1% ตามด้วย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ รายงานระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า "การทูตวัคซีน" ของจีนในภูมิภาคอาเซียนนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจีนเลี่ยงการใช้คำว่า "การทูตวัคซีน" มาโดยตลอด แต่กลับเน้นย้ำในบริบทของการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแก่ทั่วโลก จึงยากจะประเมินถึง 'วาระซ้อนเร้น' ของจีนต่อการมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคระบาดของภูมิภาคนี้
ที่มา: asia.nikkei , thediplomat