ไม่พบผลการค้นหา
ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม มาพร้อมกับช่องว่างต่างๆ ที่ผูกโยงเป็นปัญหาลูกโซ่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การทำความเข้าใจปัญหาที่หยั่งรากลึกของ "ความเหลื่อมล้ำ" ในมิติต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องทำให้สังคมตระหนัก รับรู้ถึงปัญหาจริงๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข มิเช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังบ่อนเซาะประเทศต่อไป

'ความเหลื่อมล้ำ' มักเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ จนทำให้หลายคนคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมีตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียวคือ 'เงิน’ ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำกระจายตัวอยู่ในหลากหลายมิติของปัญหาสังคมไทย และหนึ่งในปัญหาฝังรากลึกที่เกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติกระบวนการยุติธรรม

เสวนาความเหลื่อมล้ำหลายมิติ

‘เยาวลักษณ์ อนุพันธ์’ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของไทยอาจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

(1) ความเหลื่อมล้ำแบบปกติ อาทิ วาทกรรม 'คุกมีไว้ขังคนจน’ ซึ่งพูดถึงปัจจัยด้านทุนทรัพย์ในการต่อสู้คดีของคนรายได้น้อยที่มีไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถขอประกันตัวในวงเงินที่กำหนดได้ อีกทั้งการขาดทุนทรัพย์ตรงนี้ทำให้ 'ผู้ต้องหา’ ไม่สามารถหาทนายความที่มีศักยภาพและความสามารถมาว่าความให้กับตัวเองได้ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายอื่นๆระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี เช่น ค่าที่พัก และค่าเดินทาง ก็ล้วนเป็นอุปสรรคในการสู้คดีและดูจะเป็นสาเหตุหลักที่ผู้ต้องหาหลายคนเลือกที่จะรับสภาพให้คดีสิ้นสุดไป


“กระบวนการยุติธรรมไทย มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก” เยาวลักษณ์ กล่าว

(2) ความเหลื่อมล้ำแบบไม่ปกติ ไม่ปกติในที่นี้หมายถึงการอยู่ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มีการบังคับใช้กฏหมายต่างๆมากมาย เยาวลักษณ์แสดงตัวเลขจำนวนคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนดูแลว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึง วันที่ 1 มีนาคม 2562 มีจำนวนคดีในความดูแลทั้งสิ้น 176 คดี ซึ่งในจำนวนนี้ มีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จำนวน 57 คดี คดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ 21 คดี และคดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และพระราชบัญญัติการชุมนุม 39 คดี

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ต้องหาที่เผชิญคดีเหล่านี้ ถูกปฎิเสธการว่าความจากทนายความ ซึ่งชี้ใ้ห้เห็นถึงการเกรงกลัวในอำนาจบางอย่าง จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม หรือแท้จริงแล้วก็คือความไม่เป็นธรรม

ความเหลื่อมล้ำที่แอบซ่อน

'รศ.ดร. สมชาย ปรีชาศิลปกุล' นักวิชาการนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ประเด็นมโนทัศน์ที่บิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นช่องทางในการสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างกรณี ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาโทษจากคดีอาญามาตรา 112 โดยหลักคิดแล้ว หากยังไม่มีการตัดสินของศาล เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าให้สมมติว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธ์

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง เจ้าหน้าที่ในชั้นแรกอย่างตำรวจหรืออัยการกลับไม่กล้าปล่อยให้มีการประกันตัวมากนัก จนต้องรอให้ศาลมีการพิพากษา ซึ่งระหว่างรอคำตัดสินของศาล "ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้บริสุทธิ์” นั้นก็ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำไปพลางๆ ก่อน ซึ่งแท้จริงแล้วคือการแสดงให้เห็น ความเหลื่อมล้ำในเชิงอำนาจอย่างชัดเจน

เสวนาความเหลื่อมล้ำหลายมิติ

ประเด็นที่สองที่ รศ.ดร.สมชายชี้คือ ปัจจุบันมีการอ้างวาทกรรม "ทำตามกฏหมาย” กันมาก เพื่อเป็นการปกป้องการกระทำของตัวเองว่าเป็นเรื่องที่ถูกและสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายอาจจะไม่ทันได้ตระหนักและฉุกคิดคือ 'แล้วกฏหมายที่ทำตามคือกฏหมายของใคร ใครบังคับใช้ แล้วใครเป็นคนตัดสิน’

แม้ความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่แท้จริงแล้วความเหลื่อมล้ำมักทับซ้อนกันในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงการเมือง


“ปัจจัยทางการเมืองมีผลมาก ว่าจะดำเนินคดีอะไรกับใคร” นายสมชาย กล่าว

ความหวัง 'นักกฎหมายรุ่นใหม่' กระสุนวิเศษ อุดช่องเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม

'เยาวลักษณ์' ชี้ว่า คนรุ่นใหม่ หรือนักกฏหมายรุ่นใหม่ต้องตื่นตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่เกิดขึ้นมาในช่วง 4-5 ปี การปล่อยให้มีการทำลายกฏหมายควรเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และถ้านักกฏหมายรุ่นใหม่ออกมาแสดงพลังต่อต้านก็จะเป็นหนึ่งในกระสุนสำคัญที่จะช่วยเริ่มแก้ปัญหานี้ได้

ขณะที่นายสมชายกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือฉันทามติของประชาชน ประชาชนต้องก้าวผ่านการแบ่งฝ่ายเมื่อพูดเรื่องความยุติธรรม ไม่ใช่ว่าเมื่อฝ่ายตรงข้ามโดนดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมแล้วมองว่าเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ต้องมองว่าแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่การถูกดำเนินคดีด้วยวิธีที่ผิดเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เมื่อมีฉันทามติทางความคิดแบบนี้ได้แล้ว จะทำให้ลดปัญหา "2 มาตรฐาน" ลง

อีกทั้งยังชี้ว่า องค์กรมืออาชีพอย่าง อัยการ และ ศาล ต้องมีรับฟังเสียงวิจารณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการตรวจสอบ ท้ายที่สุด นายสมชายกล่าวว่า จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ประเทศต้องกลับไปเป็น 'เสรีประชาธิปไตย’

แม้ว่า ความเหลื่อมล้ำในมิติกระบวนการยุติธรรมอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่ลำพังจะสนใจเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองให้รอดก็แทบจะไม่ไหวแล้ว แต่การปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ดำรงอยู่ยิ่งเป็นการบ่อนทำลายประเทศชาติอย่างไม่รู้ตัว

สิ่งสำคัญคือ ประชาชนทุกคนจึงควรทำความเข้าใจและมองเห็นคุณค่าในการร่วมมือกันกำจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติกระบวนการยุติธรรม มิติเศรษฐศาสตร์ หรือมิติอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อผู้ใด แต่เพื่อตัวประชาชนคนไทยเองทั้งสิ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้ร่วมกันจัดซีรี่ย์สัมมนา "ความเหลื่อมล้ำหลากมิติ" ซึ่งมีทั้งหมด 5 หัวข้อ เริ่มจาก "ความเหลื่อมล้ำในมิติกระบวนการยุติธรรม" เป็นหัวข้อแรก ส่วนในวันที่ 22 เม.ย. หัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำในมิติคมนาคม" วันที่ 13 พ.ค. หัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำในมิติผังเมือง" วันที่ 10 มิ.ย. หัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำในมิติสาธารณสุข" และวันที่ 17 มิ.ย. หัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำในมิติเพศสภาพ"