วันนี้ (22 พฤษภาคม 2568) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อาคารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายกระทรวงยุติธรรมเพื่อประชาชน” ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 : ยุติธรรมกินได้ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ประชาชน และสื่อมวลชนจำนวนมาก เข้าร่วมงาน
'คนจำนวนมาก อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำตามความรู้สึก คนจำนวนมากอยากให้คนในกระบวนการยุติธรรมทำตามความรู้สึก แต่รัฐมนตรีต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กฎหมายรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์' - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกไกลตัว แต่ควรเป็นระบบที่ประชาชนรู้สึกได้ว่าเป็นที่พึ่งแรก อยู่เคียงข้างในวันที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เชื่อมั่นว่าบทบาทของกระทรวงยุติธรรม คือ การสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตด้วยศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม และความหวัง และด้วยความเชื่อนี้ ผมจึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงยุติธรรมให้สามารถดำเนินภารกิจสำคัญใน 4 ด้าน
[ประการแรก: สร้างระบบยุติธรรมที่ยืนอยู่ข้างประชาชน]
นโยบายที่เราขับเคลื่อน ล้วนยึดหลักว่า ความยุติธรรมที่ดีต้องเข้าถึงได้ รวดเร็ว และไม่เป็นภาระต่อผู้ที่กำลังเดือดร้อน เราจึงเร่งผลักดันมาตรการที่มีผลต่อชีวิตประชาชนอย่างตรงจุด เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ครอบคลุมทั่วประเทศ, การปรับระบบการฟ้องร้องลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเน้นการให้โอกาส มากกว่าการลงโทษ, การปราบปรามยาเสพติดควบคู่กับการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด, การแยกผู้ต้องขังระหว่างรอคำพิพากษาออกจากผู้รับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน, การปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูผู้กระทำผิด ด้วยระบบจำแนกตามกลุ่มปัญหา เพื่อให้สามารถออกแบบแนวทางฟื้นฟูที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
”วันนี้ มาตรการเร่งด่วนต่างๆ ที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ วางอยู่บนแนวคิดที่ 'ความยุติธรรม' ไม่ใช่เพียงเรื่องของกฎหมาย แต่คือหลักประกันของชีวิตที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม“ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
[ประการที่สอง: กฎหมายต้องเป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน]
กฎหมายไม่ใช่ปลายทางของอำนาจ แต่คือ เครื่องมือที่รัฐต้องใช้เพื่อนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นธรรม เพราะกฎหมายจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อสามารถ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความเสมอภาค และคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และในทุกการตัดสินใจของนโยบาย ประชาชนต้องเป็นเข็มทิศ ที่กำหนดทิศทางการทำงานของเราทุกคนในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน ควรถูกทบทวนหรือยกเลิกอย่างกล้าหาญ กฎหมายที่ยังคงมีช่องว่าง ควรถูกเติมเต็มด้วยกลไกคุ้มครอง
[ประการที่สาม: กระทรวงยุติธรรมมุ่งทำงานเชิงรุก เชื่อมโยงกับภารกิจของรัฐบาล]
นโยบายของกระทรวงยุติธรรมถูกออกแบบให้สอดคล้องกับภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การลดความเหลื่อมล้ำ หรือการพัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
”เราตระหนักดีว่า สำหรับประชาชนที่กำลังเผชิญความอยุติธรรม การรอคอยไม่ใช่แค่เรื่องของเวลา แต่คือความกังวลที่กัดกินหัวใจในทุกวันคืน คือการกินไม่ได้นอนไม่หลับ คือความไม่มั่นคงในชีวิต ครอบครัว และอนาคต เพราะฉะนั้น หน้าที่ของรัฐไม่ใช่แค่ตอบสนองให้ทัน แต่ต้องทำให้เร็วพอที่จะหยุดความทุกข์นั้นได้ และ นั่นคือเหตุผลที่เราเชื่อว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความอยุติธรรม“ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยการนำความยุติธรรมไปหาประชาชน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น มีช่องทางออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนสามารถติดตามสถานะข้อพิพาท ยื่นเรื่องร้องเรียน หรือเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Decision-Making) เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อพิพาทต่างๆ ที่สามารถช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้การดำเนินการให้สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างโปร่งใสและทันท่วงที ระบบยุติธรรมในอนาคต จะไม่เพียงพัฒนาให้มีความรวดเร็วและชาญฉลาดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น หากแต่จะเป็นระบบที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยเทคโนโลยีมิได้มุ่งที่จะทดแทนมนุษย์ แต่จะใช้เพื่อเสริมพลังและศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น และนี่จึงนำมาซึ่งประการสุดท้าย
[ประการที่สี่: วางรากฐานที่มั่นคงให้ระบบยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้]
ผมเชื่อว่า หน้าที่ของรัฐมนตรี มิใช่เพียงการขับเคลื่อนนโยบายในช่วงเวลาหนึ่ง หากแต่คือการวางระบบที่มั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ ผมจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centered justice) ซึ่งให้ความสำคัญกับประชาชนอย่างแท้จริงและออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความยุติธรรมของทุกคนอย่างเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ (data and evidence-based approach) ที่จะเป็นเครื่องนำทางการปฏิรูป เปิดช่องให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้จริง กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางที่ได้ผลจริง
ผมเชื่อว่า ถ้านโยบายใดยึดโยงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และได้รับการขับเคลื่อนด้วยหลักการและความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เราก็จะสามารถสร้างสถาบันที่เข้มแข็ง ที่ไม่ยึดอยู่กับตัวบุคคล แต่เป็น "ระบบที่วางอยู่บนหลักนิติธรรม"
[การสร้าง “ยุติธรรม… เพื่อประชาชน”]
ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสหารือกับองค์กรระดับสากล เช่น World Justice Project มีประเด็นที่น่าสนใจและผมคิดว่า เราสามารถถอดบทเรียนมาพัฒนานโยบายด้านความยุติธรรมของประเทศไทยได้ ดังนี้
(1) แสดงเจตนารมณ์ให้ชัดเจน เราต้องส่งสัญญาณที่มั่นคงให้กับทุกหน่วยงานของรัฐว่าการปฏิบัติงานต้องยึดหลักกฎหมาย ( "play by law" ) เปิดเผยข้อมูลและเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ ( "open to public" )
(2) เสริมพลังให้ประชาชน (Empowerment) ยกระดับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สิทธิขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา,
(3) มองหาโอกาสที่ทำได้ทันที การเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเรื่องยากเสมอไป จัดลำดับความสำคัญโดยเริ่มจากสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น การส่งเสริมรัฐบาลเปิด (Open Government) ซึ่งจะสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้รวดเร็ว เป็นก้าวแรกที่อาจนำไปสู่การจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว เช่น การต่อต้านคอร์รัปชัน
(4) สร้างกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนไม่ควรถูกมองเป็นเพียง "ผู้รับผล" ของนโยบาย แต่ต้องเป็น "ผู้ออกแบบ" และ "ผู้กำหนดทิศทาง" ของระบบยุติธรรมด้วย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในที่สุดว่า กระทรวงยุติธรรมจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้นโยบายทุกฉบับ ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เชิงโครงสร้าง แต่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของประชาชนในทุกมิติ และเมื่อประชาชนรู้สึกได้ว่า "กฎหมายคุ้มครอง" "ระบบยุติธรรมรับฟัง" และ "รัฐไม่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อน" เมื่อนั้น… เราจึงจะพูดได้อย่างแท้จริงว่า “ยุติธรรม… เพื่อประชาชน” ครับ