ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับบรรณาธิการและนักเขียนจากสำนักพิมพ์พะโล้ ถึงกระแสวรรณกรรมร่วมสมัย เมื่อนิยายญี่ปุ่นสายพันธุ์ไทยดังไกลถึงประเทศต้นกำเนิด

“พรุ่งนี้เช้า ข่าวการฆ่าตัวตาย พร้อมหลักฐานการคอร์รัปชั่นของผม จะถูกปล่อยออกไปก่อนที่ฝ่ายค้านจะลงมือ จากนั้นท่านรัฐมนตรีก็จะออกไปร้องไห้ต่อหน้าสื่อ ผมจะกลายเป็นคนที่ทำเรื่องทั้งหมด และรู้สึกผิดต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป จึงชิงฆ่าตัวตายก่อน”

เลขาฯ นักการเมืองถูกจัดฉากให้กลายเป็นแพะรับบาปคดีคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬารของเจ้านาย คือจุดเริ่มต้นของ ‘ไลท์โนเวล’ เรื่องใหม่ของสำนักพิมพ์พะโล้ (Palo Publishing) เราพลิกย้อนกลับไปยังหน้าปกที่เป็นรูปวาดการ์ตูนดูขัดแย้งกับเนื้อหาหนักหน่วงภายในแล้วนึกสงสัย ‘ไลท์โนเวล’ คืออะไรกันแน่

หากเดินผ่านบูธจำนวนละลานตาในงานหนังสือก็จะพบบางบูธที่เต็มไปด้วยนิยายเล่มเล็กเท่าฝ่ามือที่มีหน้าปกเป็นรูปการ์ตูน หรือที่เรียกว่า ‘ไลท์โนเวล’ อัดแน่นอยู่เต็มชั้นวาง ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แพร่หลายในประเทศไทยนั้นครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรมการอ่านใหม่ๆ ด้วย คาโดคาวะ (Kadokawa) บริษัทผู้จัดพิมพ์สื่อการ์ตูนและนิยายญี่ปุ่นระบุว่า ไทยมักติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มียอดขายสูงสุดเสมอ

ที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันเริ่มมีงานเขียนสไตล์ญี่ปุ่นนี้ โดยคนไทยวางจำหน่าย และกลายเป็นที่กล่าวถึงที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ทีม Voice On Being จึงตัดสินใจสำรวจพรมแดนใหม่ของวรรณกรรมร่วมสมัยไปกับ จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด บรรณาธิการผู้ก่อตั้งสำนักพิมม์พะโล้ ไลท์โนเวลสายพันธุ์ไทย และ Starless Night ผู้เขียน ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ ไลท์โนเวลเรื่องใหม่ที่ถูกกล่าวขวัญถึงในญี่ปุ่น


หลายคนเห็นไลท์โนเวลแล้วก็สงสัยว่า เด็กสมัยนี้อ่านอะไรก็ไม่รู้

Starless Night: คือเราต้องเข้าใจว่ายุคสมัยนี้ แต่ละคนมันมีรสนิยมที่ต่างกัน แล้วก็มีความต้องการที่ไม่เหมือนกันเพราะว่ามีตัวเลือกให้เลือกเยอะ อาจจะมีกลุ่มคนที่มีรสนิยมเป็นแนวพังก์แต่งตัวแบบพังก์ ฟังเพลงแนวพังก์ บางกลุ่มจะออกไปทางฮิปสเตอร์ชอบไปนั่งร้านกาแฟ บางคนก็ชอบเสพวรรณกรรม

คุณเกิดขึ้นมาในยุคสมัยก่อนที่จะมีไลท์โนเวล คุณไม่เคยดูอนิเมะ คุณไม่เคยอ่านมังงะ หรือว่าไม่ได้อินกับเรื่องพวกนี้ พอมาอ่านไลท์โนเวลมันก็ไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สมมติเอาหนังสือเล่มใหม่ผมไปให้คนที่เป็นผู้ใหญ่อ่าน เขาจะบอกว่ามันอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ว่าในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาในยุคนี้ เขาโตขึ้นมากับอินเทอร์เน็ต โตขึ้นมากับการอ่านมังงะ ดูอนิเมะ เขาอ่านเขาก็รู้สึกชอบ

ผมว่ามันเป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมงานวรรณกรรมในยุคหลังมันเลยซบเซาลง เพราะว่าเด็กในยุคหลังไม่ได้โตมากับการอ่านงานวรรณกรรมแบบยุคเก่า เขาโตมากับยุคสมัยที่มันมียูทูบ มีอินเทอร์เน็ตที่จะสามารถเข้าไปดูซีรี่ส์ในเน็ตฟลิกซ์ มีอนิเมะดูในเน็ตฟลิกซ์เมื่อไรก็ได้ งานเขียนที่มันจะอยู่ในยุคสมัยนี้ได้ ก็เลยเป็นงานที่ออกแบบมาเพื่อเด็กกลุ่มนี้

จักรพงษ์: วรรณกรรมมันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว ถ้าวรรณกรรมยังเล่าเรื่องยุค 14 ตุลาฯ กันต่อไป มันก็ไม่มีการพัฒนา ปัจจุบันแม้แต่นิยายแฟนตาซีเองก็เริ่มเสื่อมความนิยมไป เราไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนิยายแฟนตาซีมันไม่มีนิยายที่ดังกว่านี้อีกแล้ว เพราะว่ามันเข้าสู่ยุคของไลท์โนเวล เด็กเกิดมากับไลท์โนเวล มันก็เลยมีคำถามว่าไลท์โนเวลมันจะทำลายวรรณกรรมหรือเปล่า ไม่ใช่ มันคือการทำให้เด็กกลับมารักการอ่านมากขึ้น มันมีคำพูดเสมอว่าเด็กอ่านหนังสือน้อยลง มันไม่ใช่ เขาไปอ่านอย่างอื่นแค่นั้นเองครับ

แม้แต่นิยายแฟนตาซีเอง ปัจจุบันเราแทบไม่ได้ยินชื่อผลงานแฟนตาซีไทยดังๆ อีกเลย สำนักพิมพ์ต่างๆ หันเหไปทางนิยายประเภทอื่นมากขึ้น ในทางกลับกันไลท์โนเวลเกิดขึ้น มีสำนักพิมพ์แปลญี่ปุ่นมาเป็นไทยเยอะขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนมันมีสองสามเจ้า ทุกวันนี้มันมีเกือบสิบเจ้าแล้วนะ ด้วยเหตุผลดังนี้มันเลยกลายเป็นว่าเด็กรุ่นนี้โตมากับไลท์โนเวล นักเขียนรุ่นต่อจากนี้ก็จะเกิดขึ้น 

วรรณกรรมมันมีกลุ่มเป้าหมาย ยุคนี้วรรณกรรมไม่เป็นมหาชนอีกต่อไป วรรณกรรมมีกลุ่มของตัวเอง ซีไรต์กลุ่มหนึ่ง แฟนตาซีกลุ่มหนึ่ง แบล็กแฟนตาซีแบบการินเป็นกลุ่มหนึ่ง ไลท์โนเวลก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง

vlcsnap-2018-10-25-19h17m57s143.png
  • จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด บรรณาธิการสำนักพิมพ์พะโล้ (Palo Publishing)

แล้วตกลงไลท์โนเวลคืออะไรกันแน่

จักรพงษ์: นิยามของไลท์โนเวลที่ดีที่สุดก็คือเป็นวรรณกรรมที่มีการดำเนินเรื่องแบบมังงะญี่ปุ่น

Starless Night: หนึ่งคือมีอิทธิพลของมังงะ อนิเมะ เกม สมมติว่าเราอ่านนิยายของแดน บราวน์ เราก็จะรู้สึกว่ามันมีการตัดฉากแบบภาพยนตร์เพราะมันได้อิทธิพลจากหนัง คนอ่านก็มีภาพหนังในหัว สำหรับไลท์โนเวล คนอ่านจะไม่ได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีภาพเป็นคนอยู่ในหัวแต่ว่าจะมีภาพเป็นตัวการ์ตูน

ด้วยเหตุนี้มันจึงนำไปสู่อัตลักษณ์ที่สองที่เชื่อมโยงกันก็คือ มีภาพประกอบที่เป็นการ์ตูนทำให้ภาษามันเปลี่ยน เนื่องจากคุณไม่จำเป็นต้องอธิบายลักษณะของตัวละครให้คนอ่านเข้าใจ ชัดเจนในภาษา เพราะคุณแค่พูดถึงครั้งแรกแล้วคนอ่านก็ไปดูรูปการ์ตูนประกอบเอา

ถ้าวรรณกรรมบริสุทธิ์จะมีความคิดว่าการใช้รูปจะไปจำกัดจินตนาการของผู้อ่าน แต่ในมุมของไลท์โนเวล รูปเป็นส่วนสำคัญของนิยาย เพราะมันช่วยในการบรรยาย ถ้าเกิดไม่ใช่คนที่อ่านสายไลท์โนเวลจะไม่ชอบภาพประกอบ แม้แต่ทมยันตีเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่อยากให้มีภาพประกอบในนิยายของตัวเองเพราะมันจะไปจำกัดว่าภาพของพระเอก นางเอก เป็นอย่างไร มันไปปิดกั้นจินตนาการ


อะไรที่ทำให้ไลท์โนเวลต่างจากวรรณกรรมปกติ

Starless Night: วิธีการเขียนแบบไลท์กับการเขียนแบบนิยายปกติมันต่างกันมาก สมมติเอาหนังสือเล่มใหม่ผมไปให้คนที่เป็นผู้ใหญ่อ่าน เขาจะบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ถ้าคุณไม่เคยอ่านไลท์ ไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมแบบโอตาคุมาก่อน อ่านแล้วก็จะรู้สึกว่ามันอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะตัวละครของไลท์โนเวลไม่ได้คิดเหมือนมนุษย์มันคิดแบบตัวการ์ตูน เป็นโลจิกแบบอนิเมะ

อย่างเช่นเราดูหนังดูซิทคอมแบบเป็นต่อ หรือไปดูหนังแบบไบค์แมนศักรินทร์ เราจะรู้สึกว่าวิธีการพูดของศักรินทร์หรือวิธีการตบมุกมันไม่เรียลนะ มันจะลักษณะเหมือนละครเวทีหรือว่าตลกที่เป็นนักแสดงตลก แต่พอเราไปนั่งดูอยู่ตรงนั้น เรายอมรับได้เพราะเรารู้ว่ามันเป็นแนวของซิทคอม คนจะเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันจะสามารถเล่นมุกเจ็บตัว เล่นมุกล้มแล้ววินาทีต่อมาก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ ไลท์โนเวลก็มีแนวของตัวเองเป็นอีกแนวหนึ่ง ยากเหมือนกันที่เราจะแบ่งแยกว่าอันนี้ใช่ไลท์ อันนี้ไม่ใช่ไลท์ จะว่าไปมันก็คล้ายๆ กับว่า ร็อคกับพังก์มันต่างกันยังไง แต่คนที่ฟังก็จะรู้


ทำไมเดี๋ยวนี้ในไทยไลท์โนเวลเริ่มบูมจนถึงกับมีไลท์โนเวลไทย

จักรพงษ์: ต้องบอกก่อนว่าก่อนหน้านี้มันมีตลาดเดียวมาตลอดก็คือไลท์โนเวลแปล ก็จะมาจากเรื่อง 'Sword Art Online' ที่บูมหลังจากเปิดตัวในช่วงสิบปีก่อน (ปัจจุบันหากนับรวมทุกเล่มในซีรี่ส์ มียอดขายทั่วโลกกว่า 20 ล้านฉบับ) หลายๆ สำนักพิมพ์ก็พยายามจะทำไลท์โนเวลไทยขึ้นมาบ้าง

Sword_Art_Online_Volume_01.png
  • หน้าปกนิยาย Sword Art Online เล่ม 1 ไลท์โนเวลญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก

สำนักพิมพ์พะโล้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นนะ มันมีความพยายามหลายอย่างในช่วง 5 ปี ก่อนที่พะโล้จะเกิดขึ้น ตอนนั้นไลท์โนเวลเริ่มเกิดขึ้นมาก็จริง แต่ความบูมมันอยู่กับไลท์โนเวลแปล สำนักพิมพ์ไทยก็เลยพยายามสร้างไลท์โนเวลขึ้นมาหลายๆ สำนักพิมพ์ แต่ล้มเหลวเพราะเขาไม่เข้าใจ เขาไม่รู้ว่าไลท์โนเวลคืออะไร เหมือนคนทั่วไปมองว่าไลท์โนเวลคือนิยายที่มีภาพประกอบเป็นการ์ตูน และสุดท้ายผลตอบรับที่ได้ก็คือคนอ่านที่เป็นนักอ่านไลท์โนเวลไปอ่านก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่

Starless Night: คือหมายความว่าเขาเอานิยายแฟนตาซีทั่วๆ ไปมาใส่ภาพประกอบแล้วใช้ปกที่บอกว่าเป็นไลท์โนเวลนะ แต่นักอ่านอ่านไปแล้วรู้เลยว่านี่ไม่ใช่ไลท์โนเวล มันเป็นนิยายแฟนตาซี ซึ่งคนที่อ่านแฟนตาซีก็อาจจะชอบ แต่ตลาดเขาก็จะมีความเคยชินว่าถ้าเป็นแฟนตาซีที่คุณอยากอ่าน รูปเล่มจะต้องแบบนี้ ปกจะต้องเป็นแบบนี้ เขาจะมองหาปกแบบนั้น

ทีนี้พอคุณเอานิยายแฟนตาซีมาทำเล่มเล็กแล้วใส่ปกการ์ตูนมีภาพแทรกเข้าไป คนที่เป็นกลุ่มตลาดเดิมอ่านแฟนตาซีก็จะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่งานที่เขาจะอ่าน เลยกลายเป็นว่ามันยืนอยู่ตรงกลางเหมือนว่าเขาพยายามที่จะเอางานแฟนตาซีมาขายกลุ่มนักอ่านที่เป็นไลท์แล้วโดนปฏิเสธทั้งสองทาง


แล้วสำนักพิมพ์พะโล้มีอะไรต่างถึงโตขึ้นมาได้

Starless Night: ตอนแรกเกิดจากการที่ตัว บก.เองเป็นนักเขียน ทีนี้เขาเขียนแบบไลท์โนเวลมาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่สามารถส่งงานไปที่สำนักพิมพ์ไหนได้ เพราะตอนนั้นตลาดต้องการแฟนตาซี แล้ว บก.ก็ต้องการงานแฟนตาซี แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนที่อยากจะเสี่ยงกับตลาดนี้

จักรพงษ์: พะโล้มองเห็นว่าในเมื่อไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากจะพิมพ์งานของเรา เราก็เริ่มลองพิมพ์งานของตัวเองขึ้นมา มีผลตอบรับที่ดีแต่ก็ยังมองเป็นงานทำมือไม่ใช่สำนักพิมพ์ พอมีเรื่องแรกก็มีเรื่องอื่นตามมาจากนักเขียนหลายคนที่อยากเขียนไลท์โนเวล แต่เขาส่งงานไปให้สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ไม่รับ ก็เลยเกิดช่องว่างขึ้นมา พะโล้เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ให้คนที่อยากจะลองเข้ามาในวงการนี้ คุณอยากพิมพ์ใช่ไหม มาคุย เราสร้างงานตรงนี้

อีกอย่างหนึ่งก็คือพะโล้เป็นนักอ่านมาตั้งแต่ต้น เราเกิดมากับไลท์โนเวล แล้วก็เกิดมากับช่วงแฟนตาซีบูม เราเลยเข้าใจว่าอะไรคือไลท์ อะไรไม่ใช่


ก็เพราะไลท์โนเวลไทยมันไม่มีตลาดหรือเปล่า เขาถึงไม่พิมพ์กัน

จักรพงษ์: ไลท์โนเวลมีกลุ่มตลาดที่ชัดเจนมาก มันเสิร์ฟกับเด็กวัยมัธยมต้น มัธยมปลายไปถึงมหาวิทยาลัย ที่อ่านการ์ตูน ที่ บก.หลายๆ สำนักพิมพ์เขาไม่รับ ปัญหาคือเขาไม่รู้ว่าจะขายใคร เขาไม่รู้ แต่พะโล้รู้ คุณต้องรู้จักคนอ่านของตัวเองด้วย แล้วก็ต้องรู้ว่าคุณจะขายใคร คุณจะทำให้เรื่องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไร มันเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ถ้าคุณทำเสิร์ฟตลาดของคุณได้ มันก็ทำให้งานขายมันไปถึง สื่อสารกับเป้าหมายได้มากขึ้นอยู่แล้ว อยากจะบอกอะไรกับคนกลุ่มนี้ พวกเขาก็พร้อมจะรับอยู่แล้วเท่านั้นเอง

Starless Night: มันจับกลุ่มตลาดเดียวกับกลุ่มที่อ่านมังงะ แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็จะมีกลุ่มที่รู้สึกว่าอ่านวรรณกรรมบริสุทธิ์ยาก เหนื่อย ไลท์โนเวลก็จะจับเด็กกลุ่มนี้ จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่ากลุ่มที่เราขายเยอะขนาดไหน ถ้าไปดูในสถิติจริงๆ กลุ่มที่ชอบงานรูปแบบอื่นอาจจะเยอะกว่าก็ได้ แต่เราไม่ได้หวังไปถึงขนาดนั้น

ไม่ได้หวังว่างานของเราจะต้องเป็นงานที่ทุกคนในประเทศนี้อ่านได้ เพราะเราหวังแค่ว่ามันมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มตลาดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการงานแบบนี้นะ แล้วเราก็เขียนงานแบบนี้ เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้
IMG_1844.JPG
  • Starless Night นักเขียนไลท์โนเวลไทย เรื่อง 'เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ'

ในเมื่อญี่ปุ่นเป็นต้นตำรับของไลท์โนเวล ทำไมคนยังอ่านไลท์โนเวลไทย

Starless Night: คุณไม่จำเป็นต้องเลือกว่าคุณอ่านไทยแล้วจะไม่อ่านญี่ปุ่น หรือคุณอ่านญี่ปุ่นแล้วคุณจะไม่อ่านไทย ก็เหมือนคุณฟังพี่เสกแล้วฟังบอดี้แสลมด้วย มันก็เป็นเรื่องปกติ เราคิดว่ากลุ่มคนที่เป็นลูกค้าไลท์โนเวลส่วนใหญ่ ก็อ่านทุกเรื่องในตลาดอยู่แล้ว ความเป็นงานไทยกับงานญี่ปุ่นมันไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน เราก็เป็นงานไลท์โนเวลเรื่องหนึ่งที่วางอยู่กับงานญี่ปุ่นเท่านั้นเอง

จักรพงษ์: ไลท์โนเวลสร้างขึ้นโดยคนญี่ปุ่น ด้วยความคิดคนญี่ปุ่น เราก็อาจจะไม่อินกับสิ่งที่เขาเล่า ถ้าเป็นไลท์โนเวลไทยเราจะนำโลจิกเรื่องต่างๆ มาปรับเข้ากับความเป็นไทย เช่นเรื่อง ‘ก้านธูปกับปริศนามรณะ’ เป็นการตั้งคำถามกับเรื่องราวของผีไทย นิยายผีไทยส่วนมากจะสยดสยองและน่ากลัว แต่นิยายผีไทยจะมีแนวคิดอื่นๆ อีกได้ไหม อย่างเช่นผีชุดดำที่วัดเสมียนนารี เราสามารถทำให้เธอดูน่ารัก น่าเห็นใจได้ไหม ถ้าเป็นคนไทยจะมองว่าผีน่ากลัวไม่ต้องไปยุ่งกับมัน แต่ของเราจะมีตัวละครที่ต้องไปประสบพบเจอตัวละครพวกนี้ แล้วพยายามช่วยเหลือพวกเธอ มันเป็นการเอาวัฒนธรรมมาตีความใหม่


หรืออย่าง ‘กาลครั้งหนึ่งในรัตโนสินทร์’ เรื่องนี้มันเกิดจากความคิดที่หยิบนิยายแนวแฟนตาซีญี่ปุ่นที่ปล่อยพลังกันมาใส่ในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ๆ เลย


แล้วเรื่อง ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ เป็นอย่างไรบ้าง ได้ยินว่าพิมพ์ครั้งที่หนึ่งหมดตั้งแต่วันแรกของงานหนังสือ

จักรพงษ์: เรื่องนี้เป็นผลงานของคุณ Starless Night กับคุณ NAK ที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เป็นแนวเกิดใหม่ที่กำลังเข้ามาบูมในประเทศไทย พระเอกเป็นอดีตเลขาฯ นักการเมืองที่เคยมีอุดมการณ์ แต่สักพักหนึ่งก็จมไหลเมื่ออยู่กับการเมืองนานๆ สุดท้ายโดนยิงตาย แล้วไปเกิดใหม่ในร่างของเด็กหนุ่มหน้าสวยในต่างโลก แล้วจะต้องช่วยกู้เมืองซึ่งในตอนนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์โดยมีการถูกรุมล้อมด้วยอาณาจักรอื่น มีการดัดแปลงวัฒนธรรมและเครื่องแต่งกายมาจากล้านนา ผสมผสานกับความเป็นแฟนตาซีและเวทมนตร์ มีตัวละครที่มีหูเป็นสัตว์อย่างหูแมว หูหมา มีทั้งแนวคิดเรื่องความเป็นรัฐชาติ การตั้งคำถามเรื่องศีลธรรมและการเมือง

มันน่าสนใจมากว่าทางทวิตเตอร์ของทางญี่ปุ่นก็ดึงเรื่องนี้ไปพูดถึง โดยเฉพาะอาจารย์สึรุซากิ ทาคาฮิโระ ผู้วาดภาพประกอบเรื่อง 'จอมมารต่างโลกกับบริวารสาวนักอัญเชิญ' (Isekai Maou to Shoukan Shoujo no Dorei Majutsu) ของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นเขาสนใจเลยดึงไปบอกว่าอยากอ่านเรื่องนี้ ก็เลยกลายเป็นกระแสในคืนเดียวมากกว่าสามพันรีทวิต และมีการพูดถึงในเว็บบอร์ดต่างๆ มากมายว่าคนไทยเขียนไลท์โนเวล รวมถึงมีการพูดถึงในเชิงวรรณกรรมว่าคนไทยน่าจะเขียนได้ดีกว่าญี่ปุ่น เพราะเรามีความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด จึงน่าจะเขียนพล็อตแนวเกิดใหม่ในต่างโลกได้ดีกว่า


พอมีเรื่องอย่างประวัติศาสตร์หรือการเมืองแล้วทำให้สงสัยว่าตกลงไลท์โนเวลนี่เนื้อหามันหนักหรือเบากันแน่

จักรพงษ์: ไลท์โนเวลมันมีความเบาในแง่ภาษาและการดำเนินเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่ความบันเทิง สามารถให้แง่มุม แนวคิด ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม มันมีไลท์โนเวลที่ไร้สาระ เป็นการเล่าเรื่องต่อมุกกันในห้องเรียนก็มี แต่ก็มีไลท์โนเวลที่เป็นการเมือง มีไลท์โนเวลที่พูดถึงเรื่องความโหดร้ายของสงคราม อย่างเรื่อง ‘86’ ของญี่ปุ่นเป็นการนำสงครามมาอธิบายใหม่ให้เราเห็นว่าสงครามมันน่ากลัว

เกิดใหม่ฯ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ตั้งคำถามคล้ายๆ ละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่หยิบตัวละครในโลกนี้ไปใส่ในโลจิกโลกอยุธยา แต่เรื่องนี้คือนำโลจิกในโลกนี้ไปใส่ในโลกแฟนตาซีที่มีพื้นหลังคล้ายๆ ล้านนา มันมีแนวคิดในการตั้งคำถามการเมือง มีเรื่องเลิฟคอมิดี้ มันมีเรื่องความสนุกและความรัก มีเรื่องตัวละครให้อวยแล้วก็มีเรื่องประวัติศาสตร์ใส่เข้าไปสอดแทรก อันนี้เป็นกุศโลบายที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของไลท์โนเวล เราพูดเรื่องยากๆ เราก็ควรหาของที่ย่อยง่ายๆ ให้เขาอ่าน แต่ก็มีอีกแนวหนึ่งที่อาจจะชอบอ่านง่ายๆ เบาสมองไปเลยก็มีครับ


อย่างนั้นเขียนเป็นวรรณกรรมปกติไปเลยไม่ได้เหรอ

Starless Night: จริงๆ มันมีคนถามผมเยอะว่าทำไมผมไม่เขียนงานวรรณกรรม ผมก็อ่านงานวรรณกรรม แต่ถ้าให้ผมเขียนผมอยากเขียนแบบไลท์โนเวลมากกว่า

ผมเป็นคนที่ไม่ชอบลักษณะความจริงของโลกบางอย่าง คือเรารู้สึกว่าโลกมันโหดร้ายพอแล้ว เราไม่อยากจะไปผลิตซ้ำความโหดร้ายของโลก เราก็เลยมองไปที่มุมของงานที่เป็นไลท์โนเวลซึ่งเป็นอีกโลกหนึ่งที่มีความหวังมากกว่า


แล้วผู้อ่านก็อาจจะมองเห็นประเด็นหลายๆ อย่างในงานที่เราเขียน คือมันไม่ได้หมายความว่างานที่เป็นไลท์โนเวลมันเบาแล้วมันไม่ได้มีประเด็นที่เป็นประเด็นเชิงปรัชญาหรือว่าประเด็นชวนคิดเลย แต่ว่ามันนำเสนอมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบภาษาที่คุยกับวัยรุ่นง่ายกว่า ผมเข้าใจว่ามีคนที่ชอบอ่านงานแบบเฮสเส อ่านงานแบบ ‘100 ปี แห่งความโดดเดี่ยว’ ก็มี แต่ว่ากลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบงานไลท์โนเวลก็มี และกลุ่มที่ชอบงานไลท์มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ

  • Starless Night (ซ้าย) และ NAK (ขวา) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบไลท์โนเวลเรื่อง 'เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ'

ผู้ใหญ่ก็เลยชอบบอกว่าเด็กสมัยนี้อ่านอะไรก็ไม่รู้

Starless Night: ก็เขาไม่รู้ไงว่าคืออะไร เด็กสมัยนี้ก็บอกว่าผู้ใหญ่อ่านอะไรก็ไม่รู้ มันก็เหมือนยุคสมัยก่อนๆ อย่างกุหลาบ (สายประดิษฐ์) ผมว่าตอนกุหลาบเขียนงานขึ้นมาตอนแรกต้องโดนด่าแน่ๆ คุณอยู่ในเมืองไทยช่วง ร.7 แล้วคุณเขียนงานที่มีอิทธิพลฝรั่ง เขียนเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่ฉากของเรื่องเป็นญี่ปุ่น แล้วคุณเขียนด้วยภาษาที่นับว่าเบามากในยุคนั้น ข้างหลังภาพเป็นเรื่องของความรักโรแมนติก แต่ถ้าคุณอ่านข้างหลังภาพดีๆ มันจะพูดถึงเรื่องของชนชั้น แล้วก็พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระหว่างคนยุคใหม่ที่เข้ามากับคนยุคเก่า แต่คนยุคนั้นก็คงจะด่าข้างหลังภาพว่าเขียนอะไรของคุณ มันเป็นความเรียง นี่มันไม่ใช่งานวรรณกรรมที่ดี คนในยุคก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยชินก็จะรู้สึกว่าอ่านอะไรของเขา เราก็ไม่ได้บอกว่างานแบบไลท์โนเวลดีกว่างานแบบอื่น แต่ผมว่ามันเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ต่างกัน


ชมคลิป