ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาฯ กกต. ยืนยันพร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ต้องรอ ครม.เคาะว่าจะให้เลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดก่อน ย้ำใช้งบฯ จัดเลือกต้ังท้องถิ่นได้ทันทีไม่ต้องรองบฯ ปี 63 ขณะที่นักวิชาการ ชี้ รธน. รื้อ มาตรา 1 ไม่ได้

สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน เลือกนายกสมาคม และมอบรางวัลเอกสารวิชาการ บุคคลดีเด่นและรางวัลชมเชย นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 8 – 9  โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้มอบ

จากนั้น นายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ กกต. บรรยายวิชาการในหัวข้อ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" ว่า กกต.มีการเตรียมพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ในตัวกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะเริ่มได้เมื่อไร โดยหลักต้องให้ คสช.พิจารณาว่าจะให้มีเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับใดก่อน ไม่ว่าจะเป็น กทม. เมืองพัทยา หรือนายกและสมาชิก อบจ. แต่เมื่อไม่มี คสช. ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งระดับใดก่อน โดยเรื่องระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มีจำนวน 4 ฉบับ ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ กกต. ที่คาดว่า กกต.จะเร่งพิจารณาในเร็วๆ นี้ 

“หากจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ แม้งบประมาณยังไม่ครบตามที่ กกต.ประเมินค่าใช้จ่ายไว้ ซึ่งขาดอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจะต้องมีการเลือกตั้งจริงๆ ก็พร้อมจัด เพราะสามารถใช้งบที่ได้มาจากรายได้ของท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณปี 2563 ที่สภาฯ กำลังจะพิจารณา” นายเมธา กล่าว

นายเมธา กล่าวว่า หากคณะรัฐมนตรีกำหนดการเลือกตั้งระดับใดมา กกต.จะต้องเร่งดำเนินการเตรียมการเลือกตั้ง และแบ่งเขตเลือกตั้ง จากนั้น ก็จะกำหนดเรื่องการประกาศวันเลือกตั้งและวันรับสมัครตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ข่าวมา การเลือกตั้ง อบต.น่าจะเป็นการเลือกตั้งลำดับสุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่น

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองและนักวิชาการออกมาเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 255 ระบุไว้เรื่องรูปแบบของรัฐต้องเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้นการแก้มาตรา 1 ก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ประกอบกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ดังนั้นใครที่คิดจะแบ่งแยกบ้านเมืองก็ทำไม่ได้ และสุดท้ายรูปแบบของการสร้างชาติ ไม่ว่าบ้านเมืองไหน เขาจะปกครองแบบรัฐเดียว หรือสหพันธ์รัฐ ก็ไม่มีใครคิดจะแบ่งแยกบ้านเมืองตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ายึด 3 ลักษณะนี้ การจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ก็เป็นไปไม่ได้ ส่วนที่มีการแย้งว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการก็มองว่า ต้องดูว่าอยู่บนพื้นฐานการคิดทางวิชาการในแง่ไหน อย่างเชิงรัฐศาสตร์ที่ไม่ได้พูดเรื่องแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องเศรษฐกิจ สังคมเข้ารวมอยู่ด้วย หรืออาจคุยว่าถ้าจะมีการปกครองในรูปแบบอื่น ทำได้แบบไหนบ้าง อาจจะเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษได้หรือไม่ อย่างนี้ก็พอคุยกัน แต่หากพูดว่าจะแก้มาตรา 1 หรือไม่ ก็ไม่สามารถคุยได้