ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล‘ หวังศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาส่งคำชี้แจง หวั่นสู้คดียุบพรรคไม่เต็มที่ จี้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ เกรงไม่ผ่านตั้งแต่ครั้งแรก

วันที่ 1 พ.ค. ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วานนี้ (30 เม.ย.) พรรคก้าวไกลมีการประชุม สส. เพื่อหารือแนวทางในการสู้คดียุบพรรคว่า เราหารือกันหลายเรื่อง ซึ่งตนได้อัพเดทในเรื่องของคดียุบพรรค โดยแจ้งว่า ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาในการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่ม ไปอีก 30 วัน โดยได้ยื่นไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ในสัปดาห์ที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการประชุม จะมีการประชุมอีกครั้งคือวันนี้ เราหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้ขยายเวลา 

ชัยธวัช กล่าวว่า ในคดีนี้มีความจำเป็นต้องลงรายละเอียดเยอะ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และข้อกฏหมายในการต่อสู้คดี ที่มีโทษร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง รวมถึงตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ระยะเวลาที่ศาลให้ครั้งแรกคือ 15 วัน เราขอขยายต่อ 30 วัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้เพิ่มแค่ 15 วัน รวมกันแล้วแค่ 1 เดือน ซึ่งไม่เพียงพอในการหาข้อเท็จจริง รวมถึงการพูดคุยขอความร่วมมือกับคนที่จะมาเป็นพยาน หวังว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามคำร้องขอของเรา เพราะไม่เช่นนั้นจะถือว่า เราไม่ได้รับโอกาสให้ต่อสู้คดีที่มีความร้ายแรงอย่างเต็มที่ 

ชัยธวัช กล่าวว่า ในการประชุมยังมีประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่อง รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นเรื่องของคำถามประชามติเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนคำถามในการจัดทำประชามติให้เป็นคำถามที่กว้างที่สุด และง่ายชัดเจน ไม่ใช่คำถามซ้อนคำถาม 

ชัยธวัช ระบุว่า คำถามประชามติควรจะถามง่ายๆ เลยว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ว่าจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคำถามแบบนี้ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของการทำรัฐธรรมนูญที่ดี และจะเป็นคำถามที่ช่วยทำให้ประชาชนเห็นด้วยให้มีจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูฉบับปี 2560 และรวมเสียงกันเป็นเอกภาพมากที่สุด ทำให้แนวโน้มการทำประชามติผ่านมากขึ้น 

”ในส่วนนี้เป็นความปรารถนาดีของพรรคก้าวไกลที่อยากจะรัฐบาลทบทวน หากรัฐบาลเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะยกเว้น เนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถใส่ไปในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐบาลได้เมื่อประชามติผ่าน“ ชัยธวัช กล่าว 

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลไม่ได้ปรับเปลี่ยนคำถามในการทำประชามติจะเป็นการวางยาตัวเองเพื่อนำไปสู่แก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถทำคู่ขนานได้ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เราอยากจะย้ำคือ หากรัฐบาลมีเจตนาตั้งใจอยากจะให้กระบวนการประชามติผ่านนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ ควรทบทวนคำถาม 

ส่วนความเห็นต่างอื่นๆ เช่นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ควรมีโครงสร้างอย่างไร เนื้อหาในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ควรจะมีข้อจำกัดเพิ่มเติมหรือไม่ สามารถนำไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของแต่ละพรรคการเมืองได้ 

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า มันน่าเสียดายถ้าประชามติไม่ผ่านตามที่คาดหวังไว้ อันที่จริงยังมีเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติอีก ซึ่งเรื่องนี้ควรแก้ไขให้เร็วที่สุด ถ้าสามารถแก้ไขได้ทันแล้วนำมาบังคับใช้ในการทำประชามติครั้งแรกก็ถือว่าดีมาก ซึ่งพรรคฝ่ายค้านให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเรามีร่างกฏหมายของเรายื่นไปแล้ว เพียงแต่ว่า รัฐบาลไม่เคยยื่นร่างของตนเองมาเลย ก็อยากให้ยื่นเร็วๆ จะเปิดวิสามัญก็ได้