ไม่พบผลการค้นหา
แม้สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ จะลงมติตั้งข้อหาถอดถอน 'ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์' ออกจากตำแหน่ง แต่ยังต้องรอมติพิจารณาของ 'วุฒิสภา' อีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เหล่า ส.ว.สหรัฐฯ น่าจะลงมติสวนทาง และประชาชนจำนวนมากจะยังสนับสนุนทรัมป์เหมือนเดิม

สภาผู้แทนราษฏรของสหรัฐฯ ลงมติตั้งข้อหาถอดถอนทรัมป์ 2 กรณี เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ได้แก่ การใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งเกี่ยวพันกับกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจประธานาธิบดีแทรกแซงรัฐบาลยูเครน ด้วยการสั่งระงับงบช่วยเหลือ เพื่อเรียกร้องให้ยูเครนสอบสวนลูกชายของโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า

ส่วนขั้นตอนต่อไปของกระบวนการพิจารณาถอดถอนทรัมป์ ขึ้นอยู่กับวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งพรรครัฐบาล 'รีพับลิกัน' เป็นฝ่ายที่กุมเสียงข้างมากอยู่ ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายรายมองว่า ทรัมป์น่าจะรอดพ้นจากการลงมติถอดถอนในขั้นตอนของวุฒิสภา เพราะการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ ไม่มี ส.ส.ของพรรครีพับลิกันคนใดโหวตสนับสนุนข้อหาถอดถอนทรัมป์เลย

แต่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 'เดโมแครต' รวม 4 คน 'แตกแถว' ด้วยการโหวตสวนมติพรรคไปเข้าทางทรัมป์ โดย Time รายงานว่า บางคนไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อหาถอดถอนทรัมป์ เพราะรู้สึกว่านี่เป็นมติซึ่งเกิดจากพรรคฝ่ายค้านเพียงฝั่งเดียว 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนกลไกทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้กระบวนการถอดถอนทรัมป์ไม่เกิดขึ้นจริง และอาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก 3 มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ SF Chronicle โดยมีคำอธิบายทางจิตวิทยามารองรับว่า คนอเมริกันจำนวนมากจะยังสนับสนุนทรัมป์เหมือนเดิม และมติถอดถอนในสภาผู้แทนฯ น่าจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนักต่อความนิยมของทรัมป์ในการเลือกตั้งปีหน้า

ประเด็นแรก เป็นเพราะคนอเมริกันจำนวนมากเชื่อมโยงตัวเองกับอารมณ์และความรู้สึกที่ทรัมป์กล่าวย้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ หรือปราศรัยต่อสาธารณะ รวมถึงการทวีตข้อความผ่านสื่อโซเชียลส่วนตัว นั่นก็คือการใช้คำพูดเร้าอารมณ์ ทำให้รู้สึกว่าเขากำลังถูกคุกคามและได้รับความไม่เป็นธรรม ทำให้คนอเมริกันที่สนับสนุนทรัมป์อยู่แล้วรู้สึกว่า กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทรัมป์นั้น คือ สิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบมาพากล

AP-โดนัลด์-เมลาเนีย-ทรัมป์-ผู้นำสหรัฐ-สตรีหมายเลข 1

ที่ผ่านมา ทรัมป์เรียกกระบวนการพิจารณาถอดถอนเขาว่า 'การล่าแม่มด' และพูดซ้ำๆ อยู่เสมอว่า สื่อที่รายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์เขา เป็นสื่อที่รายงานแต่ข่าวปลอม หรือ 'เฟกนิวส์' แต่เขาก็ไม่เคยมี 'ข้อเท็จจริง' ใดๆ มาโต้แย้งสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นข่าวปลอมเช่นกัน

ประเด็นที่สอง เป็นกลไกทางจิตวิทยาที่เรียกว่า 'confirmation bias' ซึ่งก็คือ 'ความเอนเอียง' หรือ 'ความลำเอียง' เพื่อยืนยันความคิดฝ่ายตน หรือความคิดที่ตนเองเชื่อมั่นหรือสนับสนุนอยู่ก่อนแล้ว โดยบทความของอาจารย์ทั้งสามรายระบุว่า กลไกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป เพราะมนุษย์มักจะมองว่าความคิดหรือความเชื่อใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาก่อน คือ 'ภาวะคุกคาม' คนเหล่านี้จึงปฏิเสธที่จะเชื่อหรือพิจารณาข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ขัดแย้งหรือหักล้างชุดความคิดดั้งเดิมของตัวเอง 

ประเด็นที่สาม การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างสุดโต่ง และเป็นกลไกทางธรรมชาติที่คนที่มีแนวคิดแบบเดียวกันจะรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่อเหมือนๆ กัน ซึ่งเครือข่ายคนที่คิดเห็นเหมือนกันเหล่านี้ เปรียบได้กับ 'ฟองน้ำ' ที่ห่อหุ้มไม่ให้ความเชื่อจากภายนอกเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในกลุ่มนี้ ไม่ว่าเหตุผลดังกล่าวจะได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นตรรกะเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าคนที่รวมตัวกันปฏิเสธ ข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็ไม่มีผลอะไรต่อพวกเขาอยู่ดี

อีกเหตุผลหนึ่งที่ The Conversation ประเมินว่าคนจำนวนมากจะยังสนับสนุนทรัมป์ต่อไป เป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การถอดถอนตั้งแต่แรก นั่นก็คือ การที่ทรัมป์ออกคำสั่งระงับความช่วยเหลือรัฐบาลยูเครน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ยูเครนสอบสวนคู่แข่งทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งก็คือโจ ไบเดน และฝ่ายสนับสนุนให้ถอดถอนทรัมป์มองว่า นี่คือการใช้อำนาจในทางที่ผิดและแทรกแซงทางการเมือง แต่คนอเมริกันจำนวนมาก ทั้งที่สนับสนุนและไม่ได้สนับสนุนทรัมป์ มองว่า สหรัฐฯ ไม่ควรจะให้เงินยูเครนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะงบประมาณของประเทศ ควรเอามาใช้กับคนอเมริกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การตั้งข้อหาถอดถอนทรัมป์ในสภาผู้แทนฯ อาจไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง เพราะถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายวุฒิสภาก็จะลงมติแย้งอยู่ดี แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับอดีตประธานาธิบดี 'บิล คลินตัน' และ 'แอนดรูว์ จอห์นสัน' และกรณีของทรัมป์เองก็จะหมดวาระในปีหน้าอยู่แล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: