ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติ เร่งมาตรการช่วยเอสเอ็มอีผ่านการเลื่อนการชำระ ตั้งซอฟต์โลน ลดเงินสมทบ ทั้งยังเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่มีความเปราะบางจากความกังวลของนักลงทุน

สืบเนื่องจากการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีต่อมาตรการช่วยเหลือในระยะที่ 3 มูลค่ารวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 9 แสนล้านบาท ล่าสุดนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแถลงข่าวแนวนโยบายระยะที่ 3 รวม 4 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นหลัก

ธปท


  • มาตรการที่ 1

กำหนดให้มีการเลื่อนการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของเอสเอ็มอีที่มียอดวงเงินกู้กับสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งละไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่เสียข้อมูลเครดิต 

ดร.วิรไท ชี้ว่า เป้าหมายหลักของมาตรการนี้เป็นไปเพื่อประคับประคงให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ยังรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ รวมถึงช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ต้องสูญเสียตำแหน่งงาน ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ย้ำว่า หากเอสเอ็มอีรายใดที่ไม่ได้ประสบปัญหาจากวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ก็ควรชำระหนี้ตามปกติ เพราะถึงแม้จะมีการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยยังคิดคิดอยู่ปกติ

  • มาตรการที่ 2

ธปท. จะเข้าสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ผ่านโครงการซอฟต์โลนที่มีวงเงิน 5 แสนล้าน โดยจะกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ปี 2562

ทั้งนี้ ธปท.จะคิดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มาคิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี อีกทั้งในช่วง 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยเจ้ามาอุดหนุนผู้ประกอบการด้วยการชำระดอกเบี้ยให้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อนี้ได้กับธนาคารเจ้าของหนี้ของตน

สำหรับสัดส่วนการเข้ามาดูแลความเสียหายต่อสถาบันการเงินของรัฐบาลของกระทรวงการคลัง จะไม่เกินร้อยละ 70 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกินร้อยละ 60 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50–500 ล้านบาท 

  • มาตรการที่ 3

ดร.วิรไท ย้ำว่า ปัจจุบันสัดส่วนยอดคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนมีสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของจีดีพี อีกทั้งโดยปกติแล้ว ตลาดการเงินล้วนมีความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับกัน ดังนั้นหากปล่อยให้เกิดปัญหาในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนก็จะกระทบกับเสถียรภาพการเงินของประเทศได้

ล่าสุด ธปท.ตามอำนาจที่ได้รับจาก พ.ร.ก.การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องมูลค่า 4 แสนล้านบาท ผ่านกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ที่จะเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวสำหรับ ธปท.ในการเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ย้ำว่า มาตรการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการช่วยผู้ออกหุ้นกู้เอกชนเป็นรายๆ แต่ดูที่ภาพรวมของสภาพการเงินทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่าเงื่อนไขที่ ธปท.จะเข้าไปช่วยต้องเกิดจากการที่บริษัทเอกชนนั้นเข้าไประดมทุนตามปกติ หรือนำเม็ดเงินของเจ้าของบริษัทเข้ามาเสริมสภาพคล่องแล้ว และ ธปท.จะเข้าไปช่วยในส่วนต่างเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งระดับคุณภาพของหุ้นกูก็ยังต้องอยู่ในเกรดที่ดีหรือเกรดการลงทุนด้วย

  • มาตรการที่ 4

ให้ปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน 

โดย ธปท. ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง ดร.วิรไท กล่าวว่า การทำให้เช่นนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที   

ในช่วงท้าย ดร.วิรไท ย้ำว่า มาตรการชุดที่ 3 นี้ เน้นไปที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเป็นการเตรียมมาตรการรับมือก่อนที่จะเหตุ แทนที่จะรอตั้งรับแบบวิกฤตในปี 2540

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;