วันนี้ (30 เม.ย.2568) ณ ห้องแมกโนเลีย บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ในงาน TNN DINNER TALK จัดโดยสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล TNN ช่อง 16 เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและภาคเอกชน ถึงทิศทางและนโยบายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจและการลงทุนสามารถนำไปปรับแผนและต่อยอดทั้งธุรกิจและการลงทุนต่อไป โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญ โภคภัณฑ์ นายองอาจ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการสถานี TNN ช่อง 16 ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานในวันนี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ สร้างอนาคตประเทศไทย ในงาน “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ตอนหนึ่งถึง ความท้าทายในปัจจุบันที่ทุกคนต้องเผชิญในหลายด้านท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดีและต้องการจะสื่อสารให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจถึงนโยบายและแนวทางต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะการมองถึงเรื่องโอกาสและแนวทางของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความท้าทายทางเศรษฐกิจ อัตราการเรียกเก็บภาษีสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยรัฐบาลจะใช้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้าง connection และการเจรจา
ส่วนกรณีที่บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ได้ปรับลดมุมมองประเทศไทย Negative จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) นั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นการให้คะแนนหรือเรทติ้ง แต่เป็นมุมมองของมูดีส์ฯ ที่มองประเทศไทยว่าหากเกิดปัญหาและเศรษฐกิจแบบนี้ในประเทศไทย จาก Stable ก็จะให้มาเป็น Negative คือการเติบโตหรือศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจลดน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นแล้ว โดยปัจจัยในการวัดของมูดีส์ฯ มองถึงอัตราการเรียกเก็บภาษีสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เช่น กัมพูชา จอร์เจีย โรมาเนีย ก็ถูกมีมุมมองที่ลดลง หรือ Negative เช่นกัน
'รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจรัฐบาล กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดถึงมุมมองที่มูดีส์ฯ เป็นห่วงมีอะไรบ้าง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอหรือไม่ ศักยภาพในการเติบโตมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงกรณีของอัตราการเรียกเก็บภาษีสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด ตลอดจนความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองทำให้นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปยากขึ้นหรือไม่ แล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เมื่อปี 2008 ประเทศไทยก็เคยถูกปรับลดลงสู่มุมมองจาก Stable เป็น Negative และก็สามารถกลับมาเป็น Stable ใหม่ได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลทำคือต้องไม่ทำให้เขากังวลในสิ่งที่เขากังวลอยู่ และการเตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นจากมรสุมเรื่องอัตราการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของกำแพงภาษีดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเรื่องอนาคตในการหาเงินเข้าประเทศที่เกิดขึ้นจริง ทั้งเรื่องอุตสาหกรรมในอนาคตที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Data Center semiconductor หรือ Google มาลงทุนในไทย ซึ่งเม็ดเงินต่าง ๆ ที่มาลงทุนในประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ' นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ต้องทำให้มั่นใจว่า GDP เติบโตขึ้น 3-4% อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ การส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ จากนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีที่ผ่านมามีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐก็ได้มีการเร่งในเรื่องของการลงทุนภาครัฐมากถึง 72% มากกว่าเดิมที่ผ่านมา 10 ปี ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีย้ำนอกจากนั้นรัฐบาลยังให้ความสำคัญสนับสนุนเรื่องของวิจัยและพัฒนา (R&D) และการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประมง ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาคนรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความกังวลของทุกคนต่อเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ผ่านมาว่า แม้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ตัวเลข GDP ทั้งปีอยู่ที่ 2.5 % แต่เมื่อมองดูในรายไตรมาส จะพบว่า GDP ในไตรมาสสุดท้ายเติบโต อยู่ที่ 3.2 % แสดงว่าการเร่งทางเศรษฐกิจดำเนินการอยู่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผล แม้ปีนี้จะมีในเรื่องของแผ่นดินไหว และเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลก็หาทางออกโดยร่วมมือและพูดคุยกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์จริง ๆ จากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบกับเอกชนที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ มีอะไรบ้าง เพื่อหาแนวทางที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องใดได้บ้าง
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีการดำเนินการ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เช่น การปลดล็อกหนี้สินรถกระบะ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ดัน GDP ในไตรมาสสุดท้ายให้สูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสการทำมาหากิน ต่อลมหายใจให้กับธุรกิจรายเล็กให้สามารถมีพลังที่จะส่งเสริมธุรกิจตัวเองต่อไปได้
รัฐบาลยังได้เตรียมมาตรการและโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว เพื่อพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแบบพุ่งเป้า ทั้ง Hard Infrastructure และ Soft Infrastructure เพื่อเชื่อมไทยเข้าสู่โลก ผ่านการสร้าง Connectivity ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ การก่อสร้างสนามบินและท่าเรือใหม่ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และอากาศยานของภูมิภาค และสามารถอำนวยความสะดวกให้กับกิจการการค้าการลงทุนในประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี การพัฒนาระบบนิเวศทางการเงิน การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็น Input สำคัญของการพัฒนาประเทศ เช่น การให้ทุนการศึกษา ODOS รวมไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องของ Data Center และ semiconduct ในการดึงดูดให้มาลงทุนในไทย เพื่อให้ทรัพยากรบุคคลของไทยเรียนรู้ และพัฒนาทักษะตนเอง ให้สามารถทำงานในธุรกิจใหม่ ๆ ควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาให้เข้มข้นมากขึ้น เตรียมคนในประเทศให้พร้อมรองรับการพัฒนาสู่อนาคตต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy การดึงดูดการลงทุนสร้าง Data Center ที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service เป็นจำนวนเงินถึง 243,308 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าโครงสร้างเหล่านี้จะสนับสนุนภาคการค้าและการลงทุน ในภาคการผลิตที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ทั้งด้านเกษตร-อาหาร และการบริการ ภาคการท่องเที่ยว การบริการทางการแพทย์ ซึ่งยังคงต้องพัฒนาวิจัยอย่างต่อเนื่องให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมทั้งในภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลตั้งใจที่จะสร้างเม็ดเงินให้แก่ภาคการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น นอกจากจะเพิ่มระยะเวลาของการพักอาศัยในประเทศ และผลักดันการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแล้ว ยังมุ่งสร้างการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว "6 ประเทศ 1 เป้าหมาย" หรือ "6 Countries, 1 Destination" รวมถึงการดำเนินการ ENTERTAINMENT COMPLEX หรือ สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งยืนยันว่า ENTERTAINMENT COMPLEX ไม่เท่ากับ กาสิโน เพราะกาสิโนมีสัดส่วนไม่ถึง 10% หรือไม่เกิน 10% ของพื้นที่ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา สระว่ายน้ำ และสวนน้ำ สวนสนุก เป็นต้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้เกิดรายได้ สร้างงาน เพราะเป็นเอกชนและต่างประเทศมาลงทุน รัฐบาลจะเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศ
ขณะที่ภาคการเกษตร เน้นการพัฒนาแบบยกระดับทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับปรุงสายพันธุ์ของพืชให้มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ควบคู่ไปกับการคิดค้นนวัตกรรมและการวิจัยที่จะช่วยลดต้นทุนทั้งระบบ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ตามแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และสามารถนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูงชั้นดี มาต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหาร สร้างผลิตภัณฑ์ชั้นดีให้กับประเทศไทย และให้สมกับเป็น “ครัวของโลก”
“นอกจากภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด คืออุตสาหกรรมยานยนต์ ดิฉันและรัฐบาลขอให้คำมั่นว่า เราจะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เราได้เร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์ Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายไลน์ผลิตไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย” นายกรัฐมนตรี ย้ำ