ไม่พบผลการค้นหา
มหาดไทย แจ้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) มุ่งบูรณาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนได้รับการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน

วันนี้ (20 พ.ค. 68) นายมนัส สุวรรณรินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายข้าราชการประจำ เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งได้มอบนโยบายเน้นหนัก 5 ด้าน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลไกกระทรวงมหาดไทยตลอดจนส่วนราชการและทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ขับเคลื่อนเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นภาคีกับสหประชาชาติอีกด้วย

“การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของผู้เรียน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเป็นอีกหนึ่งในแนวทางการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ (คกส.) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับจังหวัด เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยให้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

ในห้วงที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลการปฏิบัติราชการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) อย่างต่อเนื่อง พร้อมชื่นชมการดำเนินการของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำการบูรณาการในระดับจังหวัดที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ นโยบาย “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” และนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด มุ่งมั่นจับมือกับทุกภาคส่วนพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพ่อเมืองในการสร้างเครือข่ายการศึกษา โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในการดำเนินงาน เพื่อทำให้เด็กที่หลุดออกนอกระบบหรือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษากลับมาอยู่ในระบบการศึกษาตามกระบวนการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตาม” รวมถึงร่วมกับทุกภาคส่วนดูแลกลุ่มเสี่ยง พร้อมหาวิธีการช่วยเหลือและแก้ไข

นายมนัส สุวรรณรินทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ (คกส.) โดยที่ประชุมมีมติให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้เน้นย้ำไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อาทิ เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งอาจใช้คณะกรรมการที่มีอยู่เดิมหรือแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนคนใด “สูญหาย” จากการดูแลของหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาหรือการเรียนรู้ตามศักยภาพผ่านการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น