ไม่พบผลการค้นหา
เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาวชาวสวีเดน ผู้เริ่มเป็นที่รู้จักในปีที่แล้วจากการหยุดเรียนประท้วงรัฐบาลให้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสร้างบันดาลใจให้คนทั่วโลก ได้รับรางวัลสูงสุดขององค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ด้วยวัยเพียง 16 ปี

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เกรตา ธันเบิร์ก หรือ 'เกรียตา ธืนแบร์' เด็กสาวชาวสวีเดน วัย 16 ปี ได้รับรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) ประจำปี 2019 จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

รางวัลในครั้งนี้มอบเพื่อเป็นเกียรติแก่เกรตา ในฐานะตัวแทนของขบวนการ ‘ฟรายเดย์สฟอร์ฟิวเจอร์’ หรือ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ (Fridays for Future) ซึ่งเป็นขบวนการเยาวชนที่หยุดเรียนเพื่อประท้วงผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

"พวกเราผู้ร่วมเคลื่อนไหวขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต กำลังต่อสู้เพื่อชีวิตของพวกเรา แต่ไม่ใช่แค่นั้น เรายังสู้เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป ในอนาคต สู้เพื่อสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้งที่อาศัยในระบบนิเวศของโลกเดียวกัน ที่ช่วงชิงระบบนิเวศของโลกไป และที่กำลังกำลังทำลายมันอยู่ เรากำลังสู้เพื่อทุกๆ คน" เกรตา กล่าว

ทั้งนี้ รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึกนั้น เป็นรางวัลซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล ซึ่งมอบให้แก้ผู้ที่แสดงถึงความโดดเด่นด้านความกล้าหาญและความเป็นผู้นำในการยืนหยัดสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และใช้ความสามารถของตัวเองตามมโนธรรสำนึกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น

รางวัลของแอมเนสตี้นี้เริ่มมีขึ้นเมื่อปี 2002 โดยบางส่วนของผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ในอดีต ได้แก่ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ผู้ผลักดันความเท่าเทียมในแอฟริกา และมาลาลา ยูซาฟไซ เยาวชนชาวปากีสถานที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการศึกษาของสตรี

ทางแอมเนสตี้ ระบุว่าได้มอบรางวัลในนี้ปี 2019 ให้เกรตา เนื่องจากความพยายามของเธอในการสร้างความตระหนักถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตของเกรตานั้น เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ซึ่งเกรตาในวัย 15 ปี ได้หยุดเรียนประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคลื่นความร้อนและไฟป่าในสวีเดน กระทั่งกลายเป็นกระแสไวรัลในเวลาต่อมา

กระทั่งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2018 เธอได้ตัดสินใจหยุดประท้วงทุกๆ วันศุกร์จนกว่าสวีเดนจะออกนโยบายปฏิบัติตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงที่กำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ทั่วโลกกระทั่งกลายเป็นขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ มีผู้เข้าร่วมแล้วอย่างน้อยอีก 28 ประเทศ

"การเคลื่อนไหวประเด็นนั้นได้ผล ดังนั้นสิ่งที่ฉันบอกคุณอยู่ก็คือให้ลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะไม่มีใครตัวเล็กเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ฉันขอชวนให้พวกคุณทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดงานประท้วงในวันที่ 20 ถึง 27 กันยายนนี้"

ในช่วงปลายเดือนนี้ที่จะมีการประชุมสุดยอดของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ นครนิวยอร์ก นักเคลื่อนไหวจาก 117 ประเทศจะร่วมกันหยุดงานและหยุดเรียนประท้วงเพื่อผลักดันประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงวันที่ 20 ถึง 27 กันยายนนี้

ที่มา: Amnesty

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: