ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และประชาชาติ นำเสนอมุมมองของพรรคที่มีต่อหนังสือ ห้องสมุด และการเรียนรู้ โดย 3 พรรคเห็นตรงกันว่าต้องกระจายอำนาจให้ชุมชน และจัดการพื้นที่สาธารณะ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หนังสือที่ถูกเลือกเข้าห้องสมุดมีลักษณะสยบยอมต่อวัฒนธรรมไทย ไม่หลากหลายทางความคิด และยังแสดงความเห็นในฐานะพ่อคนว่า รู้สึกเจ็บปวดกับหนังสือนิทานในปัจจุบันที่ต้องมีตราประทับส่งเสริมค่านิยม 12 ประการของ คสช. เป็นการสนับสนุนค่านิยมจารีตเพียงแบบเดียว

“ถ้าไปดูนิทานของต่างประเทศ ไม่มีพูดเรื่องค่านิยมอะไรเลย ให้เด็กเรียนรู้เอง พูดเรื่องเดียวที่สำคัญสุดคือ จินตนาการ สอนให้เด็กขี้สงสัย สอนให้เด็กตั้งคำถาม สอนให้เด็กจินตนาการ ไม่ได้สอนให้เด็กท่องจำว่า คุณต้องมัธยัสถ์ นี่คือตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมไม่กดทับความหลากหลายว่าสิ่งที่ดีคือต้องคิดตามแบบแผนอำนาจนิยม”


Untitled-1.jpg
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เนื่องจากหนังสือในห้องสมุดไม่รองรับกับความต้องการที่หลากหลาย ธนาธรจึงมีข้อเสนอให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถนำงบไปเลือกหนังสือ และจัดกิจกรรมเอง โดยไม่ขึ้นตรงกับกระทรวง

มากไปกว่านั้น ต้องปรับปรุงคุณภาพของห้องสมุดโรงเรียน ทั้งด้านสาธารณูปโภค คือต้องทำห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีอินเทอร์เน็ตที่เร็ว และฟรี ทำให้ห้องสมุดน่าเข้าไปใช้ น่านั่งทำงาน แทนที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าโคเวิร์กกิงสเปซ

“หอศิลป์กรุงเทพ ถนนเส้นนั้นเส้นเดียวอธิบายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จบเลย ท้ายถนนมีหอศิลป์กรุงเทพฯ กลางถนนมีอุเทนฯ ถัดไปหน่อยมีสาธิตจุฬาฯ มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้นถนนมีโรงเรียนวัดหัวลำโพง คนที่อยู่ในชุมชนต้นถนน ไม่กล้าเดินทางมาใช้หอศิลป์กรุงเทพฯ นะ

หอศิลป์กรุงเทพฯ มันอีลีทเกินไป การพัฒนาไม่มีความสอดคล้องกับชุมชนเลย ดังนั้น คำถามว่าทำยังไงให้คนไปใช้ห้องสมุด มีคำตอบเดียวคือ ห้องสมุดต้องยึดโยงกับประชาชนในท้องถิ่น ต้องยึดโยงกับชุมชน”

รวมถึงจะต้องถ่ายโอนหนังสือเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีแอปฯ หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งให้ประชาชนสามารถยืมหนังสือฟรีได้ผ่านแอปฯ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังห้องสมุด

ทางด้าน ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การกระจายอำนาจโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มทำจึงจะแก้ปัญหาการเข้าถึงหนังสือดีๆ ได้ เพราะโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐ และโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด มีความเหลื่อมล้ำสูง

“ทุกวันนี้การจัดการงบประมาณต่างๆ จะอยู่กับกระทรวง โรงเรียนพื้นที่ชนบทไม่มีอำนาจตัดสินใจเสนองบประมาณที่สะท้อนกับความเป็นจริง อาคารเรียนยังไม่มี ครูยังไม่มี ห้องน้ำยังไม่มี อาหารยังไม่มี ห้องสมุดจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในลำดับท้ายๆ”


Untitled-2.jpg
  • ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอคือ การกระจายอำนาจโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ในระดับท้องถิ่น ให้ตัดสินใจว่าสิ่งที่ต้องการ เช่น ครู อาหาร หรือหนังสือที่จะเลือกซื้อควรเป็นอย่างไรตามความต้องการที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่

สำหรับความเห็นเกี่ยวความไม่หลากหลายของหนังสือ และชุดประวัติศาสตร์ของรัฐ ดร.รัชดา มองกลับไปที่ระบบการศึกษาว่า ครูจะต้องหยิบประเด็นในสังคมให้เด็กค้นคว้าหาข้อมูลและถกเถียงหาข้อสรุปกัน เพราะปัจจุบันความรู้สามารถหาได้ง่ายในอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องรอปรับหลักสูตรหรือบรรจุหนังสือเล่มใหม่ๆ

“โลกใบนี้เป็นยุคที่ความรู้มีอยู่ทั่วตัว ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ไม่ได้อยู่ในหนังสือ หนังสือผลิตวันนี้ อีกหนึ่งเดือนก็อาจจะเชยก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องสอนให้เขามีทักษะที่จะค้นคว้า ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเขาได้ข้อมูลมาแล้ว ต้องแยกแยะให้ได้ แต่กว่าที่เขาจะไปอยู่ ณะ จุดๆ นั้นต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กให้รักการค้นคว้า”

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่จากพรรคเพื่อไทย เล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ 40 ชุมชนในเขตหาเสียงของตัวเองว่า หนึ่งในสาเหตุของปัญหาการมั่วสุมเกิดจากการไม่มีพื้นที่สาธารณะแบบห้องสมุดที่ดีพอ

“ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ชุมชนไม่สวยหรู เด็กไม่มีความสุขอยู่บ้าน พ่อแม่หย่ากัน ดึกๆ พ่อทำงาน แม่ออกไปข้างนอก อยู่บ้านไม่มีความสุข ออกมาข้างนอกไม่มีที่ให้เขาได้อ่านหนังสือ ไม่มีที่ให้ทำการบ้าน บางบ้านไม่มีไฟ ไม่มีอินเทอร์เน็ต เอาที่ไหนไปทำการบ้าน เด็กก็ไปมั่วสุม ห้องสมุดชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และต้องทำให้เร็วที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม เด็กต้องการพื้นที่ที่เป็นคอมฟอร์ตโซนของเขา”


Untitled-3.jpg
  • ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส สมาชิกพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมของคุณภาพห้องสมุด และหนังสือแต่ละแห่ง จึงควรมีมาตรฐานในการจัดซื้อ ทว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถเปิดเผยได้

อย่างไรก็ตาม ทางพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้คือ การนโยบายการกระจายความรู้ผ่านโรงเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่คุ้มค่า และรวดเร็วสุดในการทำให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลหนังสือดีๆ ได้อย่างเท่าเทียมผ่านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ e-learning เช่นเดียวกับการดูวิดีโอสตรีมมิงแบบเน็ตฟลิกซ์ เพียงผลิตบทเรียนออนไลน์ที่ไม่น่าเบื่อ และติดตั้งอินเทอร์เน็ตในทุกๆ ชุมชน

ในประเด็นเรื่องห้องสมุดชุมชน และห้องสมุดโรงเรียนนั้น ผศ.ดร. มีชัย ออสุวรรณ ประธานคนรุ่นใหม่ และทีมงานนโยบายการศึกษาจากพรรคประชาชาติ เห็นต่างออกไปจากตัวแทนของพรรคอื่นๆ โดยกล่าวว่า งบของสิ่งปลูกสร้างมักจะถูกทุจริตง่าย

ในปี 2562 รัฐบาลใช้งบประมาณส่วนนี้ถึง 287 ล้านบาท และทางพรรคประชาชาติเองมองว่า ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ห้องสมุด ห้องสมุดเป็นเพียงสถานที่เก็บหนังสือ แต่จำเป็นต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้ชั่วชีวิตด้วยตัวเองให้เด็ก เนื่องจากหนังสือเป็นล้านเล่มจะไม่มีประโยชน์ถ้าครูไม่มีคุณภาพ


Untitled-4.jpg
  • ผศ.ดร. มีชัย ออสุวรรณ ประธานคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ

นโยบายของพรรคประชาชาติเน้นการสร้างศักดิ์ศรีของครูให้เท่าเทียมกับหมอ คนที่เรียนเป็นครูต้องเป็นคนที่เก่งจริงๆ ปั้นคนที่มีแววเป็นครูตั้งแต่เด็ก มีสวัสดิการ และเงินเดือนเท่าเทียมกับหมอ เพื่อให้คนอยากเป็นครู


ชมคลิป


On Being
198Article
0Video
0Blog