วันนี้ (2 กรกฎาคม 2568) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2568 ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (BDE) คาดว่า Digital GDP ขยายตัว ร้อยละ 6.2 คิดเป็น 3.4 เท่าของ GDP โดยรวม (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.8) ถึงแม้ว่าเศรฐกิจไทยได้ผลกระทบจากมาตรการภาษีที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศก่อนหน้านี้
“ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือร้อยละ 2.8 (ลดลง 0.5 จุด) และ สศช. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือร้อยละ 1.8 (ลดลง 1.0 จุด) พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว โดยเศรษฐกิจดิจิทัล (Broad Digital GDP ณ ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) คาดว่าจะขยายตัว 6.2 สูงกว่าการขยายตัวของ GDP โดยรวม ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 (สศช. ประมาณการ) โดยเฉพาะด้านการส่งออก ที่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าดิจิทัล มีมูลค่าประมาณ 8.6 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35 สูงกว่าการส่งออกรวมของประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล และกระทรวงดีอี ทำงานหนักในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวด้วยอุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกรูปแบบ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ด้าน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุปคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 ที่จัดทำขึ้นภายใต้สมมติฐานเพื่อการคาดการณ์ ปัจจัยสนับสนุน และข้อจำกัด/ความเสี่ยง โดยมีผลการคาดการณ์ที่สำคัญ ดังนี้ สมมติฐานสำคัญปัจจัยสนับสนุน ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง โดยเศรษฐกิจโลก ขยายตัวร้อยละ 2.8 (IMF) และเศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.8 (สศช.) การส่งออกสินค้าดิจิทัลที่ขยายตัวสูงเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ นโยบาย Cloud First Policy และการเร่งรัดสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล การลงทุนในอุตสาหกรรม Data Center ชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และเซมิคอนดักเตอร์ พฤติกรรมการของคนไทยและนักท่องเที่ยงต่างชาติที่ใช้การชำระเงิน ซื้อบริการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น โดยนโยบายภาษีของสหรัฐที่ไม่แน่นอน การผันผวนทางการเมือง และการค้าโลก ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง การแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลในภูมิภาค การเข้ามาแข่งขันของสินค้าดิจิทัลนำเข้าจากต่างประเทศ
เศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม โดยBroad Digital GDP (CVM) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง ในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 4.69 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวร้อยละ 6.2 จากปี 2567 และคิดเป็นการขยายตัว 3.4 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ( สศช. ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัว สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในหมวดต่าง ๆ พบว่า ทุกหมวดขยายตัวสูงกว่า GDP ของประเทศ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุด (ร้อยละ 9.9) และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) ขยายตัวต่ำที่สุด (ร้อยละ 4.5)
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และ/หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ (ไม่รวมซอฟต์แวร์) ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออก และการผลิตสินค้าดิจิทัลของประเทศ
2. อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางด้านดิจิทัลทุกประเภท และการจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นการบริการหรือการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ การให้คำปรึกษา และการบริการในลักษณะออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐานในการสร้างมูลค่า โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย
(1) การให้คำปรึกษาและบริการออกแบบ
(2) บริการทางออนไลน์
(3) การซ่อมและบำรุงรักษา โดยมีลักษณะการดำเนินงานหลักเป็นการให้บริการ และมีการจัดเก็บค่าบริการในลักษณะของการเช่าใช้ หรือปริมาณการใช้งาน ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศ
3. อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต
การจำหน่ายอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานหลักเป็นการติดต่อสื่อสาร และผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และแพร่ภาพกระจาย เสียง และการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร โทรคมนาคมและแพร่ภาพกระจายเสียง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย (1) การสื่อสารและอุปกรณ์เครือข่าย และ (2) การบริการด้านการสื่อสารและแพร่ภาพกระจายเสียง ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.5 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศ
4. อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การผลิต และจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ใด ๆ เช่น สำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน โดยเน้นที่มีการทำงานหลักในลักษณะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถในการประมวลผลได้อัตโนมัติ และการรับรู้บริบทผ่านเซ็นเซอร์ เช่น กล้อง ไมโครโฟน และ GPS เป็นต้น ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ
5. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การผลิต การจำหน่าย และการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่ง ระบบควบคุมสั่งการ ระบบตอบสนองต่อการใช้งานเฉพาะ โดยมีไม่รวมถึงการเช่าใช้หรือเก็บค่าบริการตามปริมาณการใช้งาน ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
6. อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital content) หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และเผยแพร่จำหน่ายด้านเนื้อหาดิจิทัล ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) สื่อวิดีโอออนไลน์ (2) สื่อแอนิเมชัน (3) สื่อการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (4) เกมส์ (5) สื่อเสียงแบบดิจิทัล (6) สื่อภาพและศิลปะ (7) สื่อข้อความและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และ (8) Immersive content (เช่น AR / VR) เป็นต้น ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.9 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.7 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการบริโภคของประเทศ
7. อุตสาหกรรมดิจิทัลอื่น ๆ (Others) หมายถึง อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในขอบเขตอย่างแคบ และขอบเขตอย่างกว้าง ที่ไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่ แต่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ท่องเที่ยว เป็นต้น ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 (CVM) ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 (CVM) ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ