ไม่พบผลการค้นหา
นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง ‘เพชรา เชาวราษฎร์’ เตรียมปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกครั้ง ในงานประทับรอยมือรอยเท้า ที่ ลานดารา หอภาพยนตร์ ในฐานะราชินีจอเงินที่ครองใจผู้ชมมายาวนาน ในวันที่ 18 มกราคมนี้

นางเอกสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง เพชรา เชาวราษฏร์ ราชินีจอเงิน ผู้สร้างความสว่างไสวในใจผู้คนมายาวนาน จากผลงานภาพยนตร์มากมายมหาศาลกว่า 300 เรื่อง ตลอดระยะเวลาเพียง 16 ปี ที่อยู่ในวงการ ( พ.ศ. 2505-2521) เธอมีผลงานการแสดงผ่านทางภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ไม่เคยแสดงด้านอื่นเลย สวมบทบาทได้ทั้ง เด็กสลัม เศรษฐินี เจ้าหญิง โจรสาว และอื่น ๆ อีกมากมาย พระเอกคนแรกของ เพชรา คือ มิตร ชัยบัญชา จาก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี พวกเขาได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกันหลายต่อหลายเรื่อง เช่น อ้อมอกสวรรค์ (2505) แพนน้อย (2506) อวสานอินทรีแดง (2506) นกน้อย (2507) ฯลฯ จนกลายเป็นคู่ขวัญ ‘มิตร เพชรา’ ที่ยุคนั้นถือว่าเป็นพระเอกนางเอกอันดับหนึ่งของวงการ


มิตร เพชรา

มีเรื่องเล่าที่พิสูจน์ถึงความโด่งดังของคู่ขวัญ มิตร-เพชรา ว่า แค่มีชื่อ มิตร-เพชรา สายหนังต่างจังหวัดทั้งหลายก็พร้อมที่จะซื้อไปฉายโดยที่ไม่ต้องดูเนื้อเรื่อง ขณะที่คนดูก็พร้อมตีตั๋วทันที และการที่ชื่อปรากฏติดกันซ้ำ ๆ ของทั้งคู่ยังทำให้แฟน ๆ บางคนเข้าใจผิดว่าชื่อเพชรานั้นเป็นนามสกุลของมิตร 

นอกจากนี้ ในยุคนั้นเธอยังมีอิทธิพลให้เกิดการเลียนแบบ สาว ๆ ต่างอยากมีคิ้วที่สวยและนัยน์ตาหวานปานหยาดน้ำผึ้ง อย่างเพชรา แต่งชุดแบบที่เธอสวมใส่ในหนัง ทำผมทรงเดียวกับนางเอกขวัญใจ ไม่ว่าจะผมแกละ ซอยสั้น หรือทรงเกล้าสูงเป็นมวยโต มีจอนโค้งรับกับใบหูทั้ง 2 ข้าง อันเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเพชรา เชาวราษฎร์

ปรากฏการณ์คู่ขวัญ มิตร-เพชรา เกิดขึ้นต่อเนื่องราว 7 ปี ก่อนที่จะจบลงใน พ.ศ. 2513 ปีที่สถานะของทั้งคู่กำลังพุ่งสูงสุดจากบท “ไอ้คล้าว” และ “ทองกวาว” ใน มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ยืนโรงนานถึง 6 เดือน แต่ในเดือนตุลาคม มิตร ชัยบัญชา กลับประสบอุบัติเหตุตกจากเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิตระหว่างถ่ายทำเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งมีเพชราเป็นนางเอก ตำนานคู่ขวัญ เหลือไว้เพียงผลงานที่ทั้งคู่ร่วมแสดงกันมากถึงเกือบ 200 เรื่อง และในปีนั้น เพชราเริ่มมีปัญหาทางด้านสายตา ก่อนที่เธอจะตาบอดและพักจากงานวงการบันเทิง ไม่ปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณะ


เพชรา เชาวราษฎร์

พ.ศ. 2544 เพชราปรากฏแต่ “เสียง” ให้แฟน ๆ ได้คลายความคิดถึงในบทบาทนักจัดรายการวิทยุอยู่ประมาณ 4 ปี จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 เธอจึงปรากฏตัวออกสื่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในฐานะพรีเซนเตอร์เครื่องสำอางชื่อดัง ซึ่งรายได้ทั้งหมดมอบให้แก่การกุศล หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย การเผยโฉมครั้งแรกในรอบสามทศวรรษของเพชรากลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจ ทั้งแฟนภาพยนตร์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เพิ่งรู้จักเธอผ่านผลงานภาพยนตร์บางส่วนซึ่งยังคงหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ก่อนที่เธอจะได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561 และปรากฏตัวกับสื่อมวลชน พร้อมให้สัมภาษณ์ นับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ควรค่าแก่ผลงานจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เคยมี รอยพิมพ์มือพิมพ์เท้าของเพชรา แต่ได้เกิดความเสียหาย เมื่อหอภาพยนตร์ต้องขนย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ศาลายา โดยในปี พ.ศ. 2549 ครั้งนั้น หอภาพยนตร์ได้นำแผ่นปูนไปให้เพชราประทับรอยมือที่บ้านเพื่อนำไปประดับในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ร่วมกับแผ่นรอยมือรอยเท้าของดาราคนอื่นที่เคยประทับไว้ที่หอภาพยนตร์ ถนนเจ้าฟ้า  

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม เพชรา เชาวราษฎร์ จะเดินทางมาประทับรอยมือรอยเท้า บนลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นอมตนุสรณ์ เคียงข้างกับดาราทั่วฟ้าเมืองไทยคนอื่น ๆ พร้อมชมตัวอย่างผลงานภาพยนตร์ในอดีต และร่วมพูดคุย โดยกิจกรรม จะมีตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด

ภาพประกอบและข้อมูลอ้างอิง จาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :