ไม่พบผลการค้นหา
iLaw เปิดข้อมูล เล่มจบปริญญาเอกของ 'สว.สมชาย แสวงการ' พบว่ามีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแหล่ง ด้านสว.สมชายแจงพิมพ์ตกหล่นอ้างอิงบททบทวนวรรณกรรม จ่อฟ้องกลับ

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยข้อมูลว่า ดุษฏีนิพนธ์ ของ สมชายแสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ประกอบการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2565 มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

ทั้งนีี้ สมชาย สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2565 จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันอุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีสมชายเป็นสมาชิก

งานวิจัยยาว 264 หน้า (รวมภาคผนวกและประวัติผู้เขียนที่มีความยาวสองหน้า) สำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

iLaw ระบุว่า เมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่นๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า

ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 “กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด

รูปแบบการลอกนั้นไม่ได้มีแค่การลอกทางตรงเท่านั้น ในหน้า 80 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า มีเชิงอรรถขนาดยาวที่อธิบายพลวัตของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประธานาธิบดี งานวิจัยของสมชายก็ยกเอาเชิงอรรถทั้งหมดนี้มาใส่ในเนื้อหาในหน้า 40-41

iLaw รายงานว่า  นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน

ยกตัวอย่างเช่น ในหน้า 65 ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ห้าบรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. เอง แม้ว่าจะมีการใส่เชิงอรรถถึงงานของปณิธัศร์ไว้ด้านล่าง แต่เนื้อหาก็เหมือนเกือบทั้งหมด หรือในหน้าที่ 66 ของดุษฎีนิพนธ์ก็มีการคัดลอกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Parliament Act 1911 จากงานของปณิธัศร์มาไว้ด้วยอีกเช่นกัน

ยังพบอีกว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า 72-73 จากหน้าที่ 117-119 ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2560 โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำ

นอกจากนี้ iLaw ยังเปิดเผยข้อมูลว่า  ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์

ด้านสมชาย แสวงการ สว.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า สิ่งที่ไอลอว์ลงนั้นเป็นความเท็จ ยืนยันว่าตนได้ทำงานงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์นี้เองในเรื่องการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งศึกษามาตั้งแต่ปี 2551 ในการเรียนกฎหมายมหาชน จนมาถึงการศึกษาปริญญาเอก การทำดุษฎีนิพนธ์นี้มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เก่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560, อดีต ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้ง ส.ว.ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง, สัมภาษณ์ Focus Group ทั้งนักวิชาการและประชาชน รวมถึงการออกแบบสอบถามประชาชนทั่วประเทศอีก 500-600 ตัวอย่างและนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาวิเคราะห์ร่วมกับฉบับที่ผ่านมาและบทความต่างประเทศ ซึ่งก็มีการอ้างอิง และลอกกันทั้งโลก

สมชาย กล่าวด้วยว่า คนที่ทำวิทยานิพนธ์เขาจะรู้ บทหนึ่งคือบทวรรณกรรม บทสองคือบททบทวนวรรณกรรม ซึ่งบททบทวนวรรณกรรมไม่ใช่บทวิจัย ดังนั้นสิ่งที่ไอลอว์เขียนถือว่าบิดเบือน การทบทวนบทวรรณกรรมนี้เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยตรงที่ไม่ได้ใส่เชิงอรรถกับบรรณานุกรม เนื่องจาก ดร.ภูมิ มีสองเล่ม แต่ใส่ชื่อตกไปเล่มหนึ่ง เพราะคิดว่าอันเดียวกัน แต่เมื่อมีคนทักท้วง ตนก็ยอมรับและขอโทษ และได้ไปขอแก้ไขโดยได้รับอนุมัติแก้ไขจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีการหยิบยกข้อเขียนของไอลอว์มาประกอบ เพราะเห็นว่าเขียนดีก็เอามา เหมือนการนำข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือห้องสมุดวิชาการของ ส.ว.มาประกอบ เราก็ให้เครดิตเขา เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์จึงนำมาใส่ เรื่องมีอยู่แค่นี้ ซึ่งไม่ใช่การคัดลอกตัดแปะวิทยานิพนธ์อย่างแน่นอน

“ผมขอยืนยันว่าได้ทำงานวิจัยนี้ด้วยตัวเอง สัมภาษณ์ บุคคลที่เกี่ยวข้อง Focus Group มีทีมงานทำอย่างดี ทำอย่างละเอียด และได้งานที่ผมภูมิใจ ส่วนใครจะเอาไปใช้สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือใครจะเอาใช้ในการเลือก ส.ว.แล้วแต่เขา ยืนยันไม่มีการตัดแปะ ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งผมไม่มีความกังวลใจ เพื่อเชื่อในความบริสุทธิ์ใจและการทำงานตลอดมาของงานดุษฎีนิพนธ์นี้ว่าได้ทำมาเรียบร้อย มีพยานซึ่งพร้อมจะเชิญท่านที่ผมสัมภาษณ์มาเบิกความในศาลได้หมดทุกคน ดังนั้นถ้าไอลอว์แก้ไขให้ถูกต้องก็จบ แต่หากไม่แก้ก็ต้องแล้วแต่ทีมกฎหมายของตน เพราะได้รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว ส่วนสื่อที่ลงข้อความจากไอลอว์ก็ขอให้ลงคำแก้ไขด้วย” นายสมชายกล่าว