ไม่พบผลการค้นหา
ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเผย ปัจจุบันหักเงินเดือนลูกหนี้เงินกู้ กยศ.ได้แล้ว 4 แสนราย ตั้งเป้าภายในปี 2564 ได้ครบ 1.8 ล้านราย ลั่นรายรับมากกว่ารายจ่าย พร้อมปล่อยกู้เพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีเงินกองทุนเพื่อปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 26,000 ล้านบาท มีเงินจากการชำระหนี้คืนของผู้กู้ยืมอีกปีละ 31,000 ล้านบาท ดังนั้น แต่ละปีจึงมีรายรับมากกว่ารายจ่าย อีกทั้ง กยศ. เป็นกองทุนที่มีเงินทุนหมุนเวียน จึงไม่จำเป็นต้องขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากรัฐ

อีกทั้ง ในปี 2563 นี้ คาดว่าจะได้รับเงินจากการชำระหนี้ของผู้กู้มากกว่าปี 2562 เนื่องจากมีผู้กู้ยืมเงินตื่นตัวชำระหนี้มากขึ้น จากกระบวนการหักเงินเดือน ที่มีเป้าหมาย ทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน จากลูกหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ปัจจจุบันสามารถหักหนี้ กยศ. จากเงินเดือนได้แล้ว 4 แสนคน และจะเพิ่มอีก 4 แสนคนในปี 2563 และภายในปี 2564 เพิ่มอีก 1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ครบ 1.8 ล้านคนตามเป้าหมาย ขณะที่เป้าหมายการเก็บรับชำระหนี้ของปี 2563 อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท

"แม้ภาวะเศรษฐกิจปี 2563 จะดูชะลอตัว แต่แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่มีอยู่ ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก อีกทั้งที่ผ่านมา ก็มีการผิดนัดชำระหนี้ (ค้างจ่ายเกิน 1 เดือนเป็นต้นไป) ลดลง เพราะมีกฎหมายออกมาบังคับให้นายจ้างที่เป็นบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจหักเงินเดือนลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ กยศ. ได้เลย โดย กยศ.มีสิทธิให้นายจ้างหักเงินลูกจ้างเป็นลำดับที่ 3 ตามกฎหมาย รองหักภาษี หักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันสังคม" นายชัยณรงค์ กล่าว

ส่วนผู้กู้ยืมที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันมีโปรแกรมให้พักชำระหนี้ได้นานสุด 1 ปี ขณะที่ ปัจจุบันในฐานข้อมูลของ กยศ. พบว่า มีผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ (ค้างจ่ายเกิน 1 เดือนเป็นต้นไป) แล้วทั้งสิ้น 2 ล้านคน จากลูกหนี้ทั้งหมด 3 ล้านคนและในกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.28 แสนคน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :