ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน ครป.ชี้จำเป็นต้องแก้ไข รธน.ปี2560 เหตุเนื้อหาไม่สอดคล้องการเมืองไทยและโลก เอื้ออำนาจอนุรักษนิยมมากเกินไป วอน ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไข แนะแก้ประเด็นเชิงลบเศรษฐกิจ - สิทธิเสรีภาพประชาชนก่อน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดประชุมใหญ่คณะกรรมการและคณะที่ปรึกษา เพื่อหารือแนวทางการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า ครป.เห็นร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องได้รับการแก้ไข เพราะมีปัญหาหลายอย่างทั้งในแง่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของไทยและของโลก โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นอนุรักษนิยมเชิงอำนาจมากจนเกินไป ขณะที่ทิศทางกระแสหลักของสังคมโลกเป็นเสรีนิยม ที่สำคัญคนร่างที่เป็นอนุรักษนิยมอยู่แล้ว คือต้องใช้ ส.ว.ถึง 1 ใน 3 ที่เป็นตัวแทนอนุรักษนิยมสุดขั้ว มีแนวโน้มที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจรัฐมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ที่สำคัญคือการมียุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอีกด้วย 

ประธาน ครป. ยังหวังว่า อาจมี ส.ว.จำนวนหนึ่งที่มีมุมมองที่แตกต่างออกไปบ้างและเข้าใจเงื่อนไขของเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นต้องทำงานความคิดและช่วงชิง ส.ว. ให้ได้ไม่น้อยกว่า 84 คนแต่ถ้าจะให้มั่นใจ ต้องมีประมาณ 100 เสียงสนับสนุน โดยอุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 2 อย่าง คือ 1.การแก้ไขในประเด็นที่จำเป็นต้องทำประชามติ และ 2.มีรอยที่ไม่ค่อยสมานระหว่างกลุ่มที่ยาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บางกลุ่มอยากยกร่างใหม่ทั้งฉบับซึ่งจะเผชิญความยากลำบากพอสมควรครับมีบางกลุ่มที่ต้องการแก้เพียงบางมาตราซึ่งยังไม่รู้ว่าเนื้อหาคืออะไร

รศ.พิชาย กล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ คือ อาจเลือกประเด็นที่ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชนและที่จะทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ โดยไม่ต้องแก้ไขในประเด็นที่ต้องลงประชามติ เพื่อลดข้อครหาและลดแรงปะทะของกลุ่มผู้ร่างและผู้ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งในอดีตเคยทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้สำเร็จ แต่กระแสสังคมและ ส.ว.เอาด้วย และต้องรณรงค์หลายปีตั้งแต่ปี 2535 -​ 2539 กระทั่งได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 แต่ขณะนี้อาจต้องมองดูเป้าหมายระยะสั้นก่อน เพื่อความเป็นไปได้ในการแก้ไขหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับในอนาคต ดังนั้น หลักการสำคัญ ในวาระนี้ 3 ส่วนคือ การแก้รัฐธรรมนูญต้องมองทั้งในแง่ความเป็นไปได้, ความสอดคล้องกับสถานการณ์และการยอมรับของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมกับย้ำว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมต้องต่อสู้ระยะยาวและต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ

โดยที่ประชุม ครป. สรุปปัญหาและที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่อาจนำไปสู่วิกฤตในอนาคตไม่จบสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้เป็นผลผลิตมาจากฉันทมติร่วมกันของประชาชนในสังคม แต่เป็นการเอาชนะคะคานกันทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งอย่างชัดแจ้ง โดย ครป. มีข้อเสนอให้มีการทบทวนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 ประเด็น เพื่อขยายสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนให้มากขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์สังคม ประกอบด้วย

1.กระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนให้จังหวัดจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดตั้งสภาพลเมือง ฯลฯ

2.ทบทวนระบบการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้เป็นธรรม และยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค

3.ปฎิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

4.ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เสริมการศึกษาทางเลือก และ Civic Education

5.ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ และการประชามติทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

6.การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานและทรัพยากร ส่งเสริมพลังงานทางเลือก

7.สร้างกลไกการป้องกันเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

8.ทบทวนอำนาจหน้าที่และกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

9.ขยายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (IESCR) คุ้มครองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพศสภาพ ส่งเสริมสังคมสวัสดิการและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ผู้สูงวัย เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส

10.สนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์ และอาหารปลอดสารพิษ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

โดย ครป.จะร่วมรณรงค์ให้มีการทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญกับสังคมเพื่อเปิดประเด็นต่างๆ ให้กว้างขวางและมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้หลากหลายมากที่สุด โดยจะจัดเวทีทั่วประเทศตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะมีหลายรูปแบบ ทั้งการเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. เหมือนในปี 2540 หรือเสนอแก้ไขทั้งฉบับหรือบางมาตราก็แล้วแต่สังคมที่ต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้มากที่สุด แต่ ครป.ไม่ได้ยึดติดว่ากระบวนการแก้ไขทบทวนจะเป็นรูปแบบใดบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง