ไม่พบผลการค้นหา
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็น ‘วันประชากรโลก’ วันชื่อแปลกๆ นี้ถูกคิดขึ้นเมื่อปี 2532 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปี 2530 ซึ่งคนทั้งโลกตื่นเต้นกันมากกับการโลกใบนี้มีประชากรครบ 5 พันล้านคน วันนี้ถูกคาดหวังว่าจะช่วยในการส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงการวางแผนครอบครัว ความเท่าเทียมทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ

นั่นเป็นเรื่องของอดีต 30 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของประชากรเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อทั่วโลก เนื่องจากมีอิทธิพลต่อการกําหนดแบบแผนและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาวะ ‘เกิดน้อย-ตายยาก’ กำลังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตา กระทั่งหลายคนคิดว่าอาจเข้าขั้นเป็น ‘ภัยคุกคาม’   

ในบริบทประเทศไทย ปี 2565 คือปีที่เราเป็น ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันในปี 2564 ที่ผ่านมาก็มีอัตราการเกิดนั้นต่ำกว่าอัตราการตายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีคนเกิดน้อยกว่าคนที่ตายเกือบ 20,000 คน ปัญหาการเกิดน้อยเกิดขึ้นจากอะไร กระทบกับอนาคตแค่ไหน และต้องเตรียมรับมือกันอย่างไร ‘วอยซ์’ พาคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาทั้งนักประชากรศาสตร์ นักปรัชญา นักจิตวิทยา ที่จะให้แง่มุมต่างๆ กันไป  


ต้องเตรียมการ ภาระทางงบประมาณมหาศาล

 ศ.เกียรติคุณ ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า อัตราการเกิดต่ำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการมีลูก มีครอบครัว ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ปรารถนาอีกต่อไป ทั้งในสังคมที่สภาพแวดล้อมไม่ดี หรือแม้แต่ในสังคมที่มีสภาพสังคมดี เช่น ญี่ปุ่น หลายประเทศในยุโรป อัตราการเกิดก็ต่ำเช่นกัน

ทั้งนี้เป็นเพราะการตายที่ลดลง ในอดีตนั้นการตายสูง ชีวิตคนสั้น การเกิดก็สูงด้วยเพื่อรักษาสมดุล แต่ต่อมาพัฒนาการด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสการแพทย์ดีขึ้น คนมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้จำนวนประชากรขยายตัวรวดเร็ว ผู้คนก็จะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ เช่น ย้ายออกไปที่อื่นที่มีโอกาสดีกว่า, ทำแท้ง, คุมกำเนิด, แต่งงานช้าหรือไม่แต่งงาน

ศ.เกียรติคุณ ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
  • ศ.เกียรติคุณ ปราโมทย์ ประสาทกุล

ในบริบทประเทศไทย ทศวรรษ 2500 เริ่มมีการพัฒนาประเทศอย่างมีแบบแผน ประชากรตายน้อย แต่อัตราการเกิดยังสูงเหมือนเดิม อัตราเพิ่มของประชากรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3% มาตลอด แต่ปีที่แล้วเราถึงกับติดลบ อยู่ที่ -0.5%

ช่วงปี 2506-2526 ประชากรไทยเกิดปีละเกิน 1 ล้านคน ส่วนในปี 2514 เป็นปีมีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ 1,200,000 คน ขณะที่เมื่อปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 540,000 คน

“ในทางทฤษฎีแล้ว อัตราเกิดของไทยจะลดลงไปอีก ในขณะที่อัตราตายจะเพิ่มขึ้น จนในที่สุดแล้วจะเกิดปรากฏการณ์ ‘ประชากรติดลบ’ ถ้าไม่มีโควิดไม่มีอะไรเลย เราคาดกันว่าอีก 3-4 ข้างหน้าประชากรถึงจะเริ่มติดลบ แต่พอมีโควิด จึงมาเร็วกว่าที่คิดไว้” อาจารย์ปราโมทย์กล่าว

การเกิดที่ลดลง-อายุเฉลี่ยของคนที่เพิ่มขึ้นทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป และประเทศไทยนั้นนับว่าเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก เพราะอีกราว 10 ปีก็จะไปสู่การเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ หรือมีประชากร 60 ปีขึ้นไปเกิน 28% ของประชากรทั้งหมด

“เราไปเร็วมาก เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปนี่ใช้เวลาตั้ง 40-50 ปี ของไทย ตอนนี้เรามีคนอายุมากกว่า 60 ปีราว 12 ล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ที่สำคัญ คนที่อายุมากกว่า 80 ขึ้นไปตอนนี้มี 1.4 ล้านคน แต่อีก 20 ข้างหน้าจะมีเกือบ 5 ล้านคน”

นักประชากรศาสตร์อาวุโสชี้ให้เห็นด้วยว่า รัฐบาลก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้เพราะงบประมาณเริ่งโป่งพองอย่างชัดเจน หากดูเฉพาะจำนวนข้าราชการเกษียณ ปี 2564 มีคนรับบำนาญประมาณ 8 แสนคน แต่ใช้งบประมาณมากถึง 270,000 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับประชาชนทั่วไป มีผู้ได้รับอยู่ราว 10 ล้านคน ใช้งบประมาณ 79,000 ล้านบาท ส่วนคนที่ได้รับบำเหน็จบำนาญจากระบบประกันสังคมมีอยู่ 350,000 คน ใช้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท

“ตอนมีพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ เมื่อปี 2494 ตอนนั้นอายุเฉลี่ยคนหลังเกษียณนั้นเหลือไม่ถึง 15 ปี แต่เดี๋ยวนี้ หลังเกษียณแล้วอยู่ต่อได้ประมาณ 20 กว่าปี และจะยิ่งนานขึ้น คิดดูว่าต้องใช้เงินเท่าไร จะหาเงินจากไหน ผมไม่รู้แล้วนะ เพราะไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ)” นักประชากรศาสตร์กล่าว

 
ไม่ต้องสนใจ ‘จำนวนเกิด’ เท่ากับสร้าง ‘คุณภาพ’ ประชากร

“นอกจากเงินแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับสังคมสูงอายุ คือ สวัสดิการด้านสุขภาพ แปลว่าระบบบริการจะต้องรองรับคนเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้กันถึง 30% ไม่นับผู้สูงอายุที่ติดเตียงอีก ยิ่งไปกว่านั้นคือ เราพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่อยู่กันเอง ไม่มีลูกหลานดูแล ส่วนที่จำเป็นและจะยิ่งขาดแคลนในอนาคตคือ คนดูแลผู้สูงอายุ ”

“อย่างไรก็ตาม ตอนหลังผมเสนอว่า ต่อไปไม่ต้องพูดแล้วเรื่องเด็กจะเกิดกันเท่าไหร่ แต่ดูที่คุณภาพของการเกิด ภาษาอังกฤษเรียก active aging ให้คนเกิดอย่างมีคุณภาพ เกิดมาแล้วเจริญวัยขึ้นอย่างมีพลัง และทำให้คนสูงวัยอย่างมีพลัง มีสุขภาพที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต รวมถึงตายอย่างมีคุณภาพด้วย” อาจารย์ปราโมทย์นำเสนอทางออก

วิธีคิดแบบปัจเจกชนนิยม รัฐควรฉลาดจัดการ

แล้วนักปรัชญามองเรื่องนี้อย่าง คะนอง ปาลิภัทรางกูร อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่คนปัจจุบันไม่อยากมีลูก มาจากหลายเหตุผล โดยหลักเป็นเรื่องเศรษฐกิจ, เรื่อง ‘เสรีภาพ’ ที่การมีลูกอาจทำให้ต้องจำกัดเสรีภาพที่เคยมีเต็มเปี่ยม, ความคาดหวังว่าต้อง ‘เลี้ยงให้ดี’ หากไม่มั่นใจก็ไม่อยากมี, การมุ่งสู่ความสำเร็จส่วนบุคคล การมีลูกอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ

นอกจากนี้ วิธีคิดแห่งยุคสมัยแบบ ‘ปัจเจกชนนิยม’ ก็มีส่วนให้คนตัดสินใจไม่มีลูก เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบสังคมเดิมที่มองว่า การมีลูกจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ จะสร้างคุณค่าให้กับตนเอง หรือผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ รวมทั้งจะมีลูกจะตอบแทนบุญคุณ เลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า ดังนั้น แนวคิดแบบ ปัจเจกชนนิยม จึงถือวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่มีผลต่อความไม่อยากมีลูกเช่นเดียวกัน

คะนอง ปาลิภัทรรางกูร อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คะนอง ปาลิภัทรางกูร 

อาจารย์คะนอง เห็นว่า ยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่มีชนชั้นกลางอยู่มาก และตระหนักในวิถีชีวิตของตัวเอง เป็นกลุ่มปัจเจกชนนิยม รัฐที่ดีจึงควรที่จะรู้จักจัดการแก้ไขปัญหา โดยตระหนักรู้ว่าแนวคิดของคนในปัจจุบันคือแนวคิดปัจเจกชนนิยม ดังนั้นการออกกฎหมาย ควรคำนึงประชาชนในฐานะพลเมืองของรัฐ

“ไม่ใช่แค่ประชากรเฉยๆ แต่เป็นพลเมืองที่มีสิทธิ มีเสียง ในสังคม” พร้อมเสนอว่า ถ้ารัฐไทยยังไม่ยอมปรับตัว และยังคงใช้อำนาจกำหนดชีวิตของคนในสังคม หรือกำหนดนโยบายจากรัฐอย่างเดียวไม่พอ เพราะคนถูกผลักดันด้วยความคิดหรือเหตุผลบางอย่าง ดังนั้น การใช้อำนาจรัฐอย่างเดียวจะไปไม่รอด ต้องใช้แรงจูงใจด้วย

เสรีภาพมากขึ้น ชีวิตก็กออกแบบได้มากขึ้น

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา และผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ได้ให้คำอธิบายว่า ในปัจจุบันความคิดและค่านิยมของสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น  ‘ชีวิตที่ดี’ ไม่ได้มีแบบเดียว เมื่อก่อนชอยส์อาจไม่มาก ส่วนใหญ่คิดว่าต้องมีลูก มีครอบครัว ตอนนี้คนเลือกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ‘การเลือกชีวิตเอง’ เป็นเพียงปัจจัยเดียว คนสมัยก่อนก็ได้เลือกระดับหนึ่ง แต่เลือกภายใต้กรอบ จริงๆ แล้วคนที่มีบทบาทสำคัญในการมีลูกคือ ผู้หญิง ผู้หญิงก่อนหน้านี้มีทางเลือกน้อยกว่าปัจจุบัน การศึกษาหลายชิ้นพบว่า อัตราการศึกษาที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับอัตราการเกิดที่ต่ำลง

“เราใช้ชีวิตในสังคม เวลาเราคิด แม้จะเป็นความคิดของเรา แต่มันถูกตีกรอบด้วยความเชื่อ อคติทางสังคมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ถ้าเราเติบโตมาในสังคมที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เราก็ไม่ได้รู้สึกมีเสรีภาพอะไร ก็ต้องเชื่อผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ แต่พอสังคมเปลี่ยนแปลง มีเสรีภาพมากขึ้น เราก็สามารถทำอะไรนอกขอบเขตเดิมๆ ได้มากขึ้น ดังนั้น บริบทในสังคมจึงมีผลต่อการคิดว่าชีวิตที่ดี ชีวิตที่ควรจะเป็นเป็นอย่างไร ทุกวันนี้คนคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีพ่อ แม่ ลูก ก็ได้ มันมีอิสระในการเลือกมากขึ้น แต่ถามว่ามีกรอบเดิมยังมีอยู่ไหม ยังมีอยู่ เราอาจไม่อยากมีลูก แต่ที่บ้านไม่ยอม ก็เริ่มเกิดความขัดแย้งในใจ”

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยา
  • สมภพ แจ่มจันทร์

นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจ เพราะการมีลูกคือภารกิจที่ต้องแบกรับ เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ “แค่จะประคองชีวิตตัวเองก็ใช้พลังงานเยอะแล้ว”  


สวัสดิการที่ดี คือ การแบ่งเบาความเครียดพ่อ-แม่

“แล้วเคยได้ยินโรคซึมเศร้าหลังคลอดไหม การมีลูกเป็นเหตุการณ์สำคัญของชีวิตคนคนหนึ่ง ผู้หญิงอาจจะมากกว่าผู้ชาย เพราะร่างกายเปลี่ยนแปลงมหาศาล พอคลอดออกมาก็มีแรงกดดันมหาศาล แรงกดดันขนาดนี้ทำให้คนเจ็บป่วยทางจิตใจได้เลย หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ไม่มีคนช่วยแบ่งเบา มันคือความเครียดมหาศาล หลายคนมีภาวะที่ว่านั้น หลังคลอดไม่นาน คุณก็ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง นอนไม่เต็มที่ กินไม่เต็มที่ ลางานได้สามเดือนก็ต้องไปทำงาน แต่กลับมาบ้านก็ต้องมาเลี้ยงลูกตอนกลางคืนอยู่ดี บางทีมันเกินกำลังคนคนหนึ่ง ดังนั้น สวัสดิการของบางประเทศที่ออกแบบไว้ดี เป็นปัจจัยให้คนตัดสินใจและมั่นใจได้ว่า มีลูกแล้วจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ต้องเครียดมาก มีเนอสเซอรี่ฟรี มีสวัสดิการรองรับ แต่เมืองไทยถ้าไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีเงิน การมีลูกมันดูยากไปหมด” นักจิตวิทยากล่าว


มองแนวคิดต่อต้านการมีลูกแบบสุดโต่ง

นอกเหนือจากแนวคิดอยากมี – ไม่อยากมีลูก แบบคนทั่วไป ปัจจุบันยังมีแนวคิดต่อต้านการเกิด (anti-natalism) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อันที่จริงแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ปัจจุบันถูกพูดถึงกันมากในโซเชียลมีเดีย  ผู้คนที่ที่มีแนวคิดนี้ เชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรมีลูก  

antinatalism

David Benatar นักปรัชญาผู้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านการมีลูก กล่าวว่า การเกิดถือเป็นเรื่องอันตราย เขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความไม่สมดุลระหว่างความเจ็บปวดและความสุข’ การไม่มีความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดี หากใครสักคนโตมาอย่างปลอดภัย ไร้ซึ่งการถูกกระทำ แต่เมื่อพิจารณาถึงการขาดความสุข เมื่อมีใครสักคนพลัดพรากขาดหายไป การขาดความสุขนี้เองที่สร้างความเจ็บปวดอย่างแท้จริง ซึ่งในทัศนะของ Benatar เชื่อว่า การไม่มีอยู่นั้นช่วยหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

ในปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มนักต่อต้านการเกิดหลายสิบกลุ่มทางเฟซบุ๊กและเรดดิต บางกลุ่มมีสมาชิกหลายพันคน กลุ่ม antinatalism ในเรดดิตมีสมาชิกราว 35,000 คน ส่วนกลุ่มต่อต้านการเกิดกลุ่มหนึ่งในจำนวนหลายสิบกลุ่มทางเฟซบุ๊ก มีสมาชิกมากกว่า 6,000 คน พวกเขากระจายตัวอยู่ทั่วโลก และมีความปรารถนาเดียวกันคือ ต้องการให้มนุษย์ยุติการให้กำเนิด และมีระดับความรุนแรงทางคิดที่แตกต่างกัน

สมภพมองว่า ไม่สามารถตัดสินได้ว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้มีความปกติทางจิตหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ อะไรที่คือสิ่งที่ผลักดันในคนกลุ่มนี้ตัดสินใจหรือมีความคิดแบบนี้ เนื่องจากความคิดของคนหนึ่งๆ ไม่ได้มาจากแค่ตัวบุคคลนั้น แต่ประกอบสร้างมาจาก สภาพสิ่งแวดล้อม บริบททางสังคม ประสบการณ์ที่บุคคลที่ประสบพบมา  

ส่วนในมุมมองนักปรัชญา อาจารย์คะนองให้ความเห็นต่อกลุ่มคนที่ต่อต้านการมีลูกแบบสุดโต่ง โดยอธิบายผ่านมุมมองของศาสนาพุทธ ว่า การตัดวงจรแห่งทุกข์ หรือการเวียนว่ายตายเกิด ทำได้เพียงหยุดกระบวนการที่จะกลับมาเกิดอีก โดยการหยุดตัวเอง เช่น คุมกำเนิด แต่ไม่มีสิทธิไปห้าม จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่สุดโต่ง ไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนาพุทธ

การเกิด-ตาย.png

ถ้ามีลูก รัฐไทยมีสวัสดิการอะไรให้บ้าง

ตอนเกิด - ระบบประกันสังคม

  • การตั้งครรภ์  ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท
  • ค่าคลอดบุตร อัตราเหมาจ่าย 15,000 บาทต่อครั้ง 
  • ค่าสิทธิลาคลอด อัตรา 50% ของเงินเดือน ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 3

ตอนเด็ก

  • เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (แรกเกิด-6 ปี) - ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ ได้เงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท จนเด็กอายุ 6 ปี
  • เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน (แรกเกิด - 18 ปี) - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยได้ 1,000 บาท/คน/เดือน
  • เงินสงเคราะห์บุตร (แรกเกิด-6 ปี) - เป็นสิทธิประโยนช์จากสำนักงานประกันสังคมที่ให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 และ 40 (ทางเลือกที่ 3) ได้รับเงินเดือนละ 800 บาท และ 200 บาท (สำหรับมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3)

สิทธิบัตรทอง

  • ฝากครรภ์จนคลอด
  • วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก มีการให้วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก และยาต่างๆ ฯลฯ

การศึกษา

  • เรียนฟรี 15 ปี จนจบม.3

อย่างไรก็ตาม การสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute หรือ TDRI) พบว่า ใน พ.ศ.2560 มีเด็กยากจนที่ตกหล่นจากการได้รับเงินอุดหนุนมากถึง 30% เนื่องจากปัญหาของกระบวนการคัดกรอง เงื่อนไขและขั้นตอนการลงทะเบียนที่เป็นอุปสรรค รวมไปถึงปัญหาเรื่องการจัดการของภาครัฐ

 

รายงานโดย : ศิริญากรณ์ สังฆะมณี /ชนิกานต์ เสือเปรียว