ไม่พบผลการค้นหา
ครม. อนุมัติงบประมาณ ดึงงบกลาง 15,800 ล้านบาท ช่วย 76 จังหวัด สู้ภัยแล้ง-น้ำท่วม สั่ง ธ.ก.ส.จ่ายประกันข้าว 5 ชนิดวงเงิน 21,498 ล้านบาท ดึงเงินงบประมาณ 25,482 ล้านบาท อุ้มต้นทุนการผลิตเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน จ่ายประกันปาล์ม 13,378 ล้านบาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ส.ค. อนุมัติงบประมาณดูและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย พร้อมกับอนุมัติหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 ดังนี้ 

ดึงงบกลาง 15,800 ล้านบาท ช่วยผู้ประสบภัยแล้ง-อุทกภัย 74 จังหวัดๆ ละ 200 ล้านบาท ส่วนสุรินทร์-บุรีรัมย์รับ 500 ล้านบาท

การแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัดต่างๆ ครม. มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นภายในกรอบวงเงิน 15,800,000,000 บาท แยกเป็นสำหรับ 74 จังหวัด จังหวัดละ 200 ล้านบาท และสำหรับจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท  

โดยจังหวัดเป็นหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แนวทางการจัดทำ และกลั่นกรองโครงการ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สำหรับจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ให้เสนอแผนงาน/โครงการให้กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 18 เขต (CBO) พิจารณาจัดสรรงบกลาง ตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2561 ต่อไป

ภัยแล้ง.jpg

ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์กับประชาชน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 

จ่ายประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ปีผลิต 62/63 วงเงิน 21,498.74 ล้านบาท

ครม.มีมติอนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,495.74 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณหารือในรายละเอียดเรื่องอัตราค่าชดเชยและค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ตามที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 โดยมีรายละเอียดระบุกำหนดชนิดข้าวและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ

โดยกำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ณ ราคาความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันรายได้ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกราคาประกันรายได้ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ประกันรายได้ 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ประกันรายได้ 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ประกันรายได้ 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

ส่วนข้าวอายุสั้น (คุณภาพต่ำ) ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ จำนวน 18 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 75 พันธุ์ซี – 75 พันธุ์ราชินี พันธุ์พวงทอง พันธุ์พวงเงิน พันธุ์พวงเงินพวงทอง พันธุ์พวงแก้ว พันธุ์ขาวปทุม พันธุ์สามพราน 1 พันธุ์ 039 (อีกชื่อหนึ่งว่าพันธุ์เจ้าพระยา และพันธุ์ PSLC02001 – 240) พันธุ์โพธิ์ทอง พันธุ์ขาวคลองหลวง พันธุ์มาเลเซีย พันธุ์เตี้ยมาเล พันธุ์ขาวมาเล พันธุ์มาเลแดง พันธุ์เบตง และพันธุ์อีเล็ป รวมทั้งสายพันธุ์อื่นซึ่งพบว่ามีคุณลักษณะเช่นเดียวกับข้าวอายุสั้นที่ระบุนี้

โดยเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิในการชดเชย ให้ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกำหนด

นาข้าว-ทุ่งนา-ราคาข้าว-ประกันราคาข้าว

พร้อมจ่ายเงิน 15 ต.ค. 2562 -28 ก.พ. 2563 ส่วนภาคใต้ 1 ก.พ.-31 พ.ค. 2563

กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง รายละเอียด วิธีการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและระยะเวลาที่จะใช้สิทธิขอชดเชยระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นผู้พิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการนำเสนอ นบข. ต่อไป

การทำสัญญาและชดเชยส่วนต่าง

1) เกษตรกรต้องจัดทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนา (ตามทะเบียนบ้าน) ของเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวคนละจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาและมีความจำเป็นไม่สามารถเดินทางไปทำสัญญาประกันราคาที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาได้ อนุโลมให้เกษตรกรทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่เพาะปลูกได้ตามความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป

2) ธ.ก.ส. ชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

อุ้มต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ปี62/63 วงเงิน 25,482.06 ล้านบาท 4.31 ล้านครัวเรือน

ครม.มีมติอนุมัติหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 25,482.06 ล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ หารือในรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่อไป 

ตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

มีกลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวนประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

สำหรับวิธีดำเนินโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรนำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562 (รอบที่ 1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ใช้งบประมาณ วงเงินงบประมาณรวม 25,482.06 ล้านบาท 

ปาล์มม.jpg

จ่ายประกันรายได้ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 วงเงินกว่า 13,400 ล้านบาท

ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยอนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 -2563 วงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 จำนวน 13,378,990,000 บาท 

โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ หารือในรายละเอียดเรื่องอัตราค่าชดเชยและค��าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ดำเนินโครงการตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ และเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป

สำหรับการจัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอันเนื่องจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ โดยกำหนดกรอบรายละเอียดโครงการตามสถานการณ์ข้อเท็จจริงรวมทั้งบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ 

มีกลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุไม่น้อยกว่า 3 ปี)

สำหรับอัตราการช่วยเหลือ เกษตรกรควรได้รับจากการขายผลปาล์มทะลาย (คุณภาพน้ำมัน 18%) ที่กิโลกรัมละ 4.00 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม (ใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 3.00 บาท บวกค่าขนส่ง กิโลกรัมละ 0.25 บาท และผลตอบแทนให้เกษตรกรร้อยละ 23 หรือกิโลกรัมละ 0.75 บาท) โดยมีรัฐจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร

ส่วนผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี ที่ใช้คำนวณวงเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรแต่ละรายจะได้รับใช้ข้อมูลผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 - 2561) ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยแพร่

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และราคาตลาดอ้างอิง คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ การดำเนินโครงการประกันรายได้ ระยะเวลาการจ่ายเงิน รวมทั้งการกำหนดราคาตลาดอ้างอิง เพื่อใช้ในการคำนวณเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยให้กำหนดราคาตลาดอ้างอิงเท่ากันสำหรับทุกจังหวัดแหล่งผลิตตามที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด 

ทั้งนี้ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จะใช้เป็นฐานการช่วยเหลือตามโครงการเป็นภารกิจตามหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง ขอให้คำนึงถึงความสะดวกและประโยชน์ที่เกษตรกรพึงได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว

ส่วนการจ่ายเงินประกันรายได้ ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร ผ่านบัญชีของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและยื่นคำขอไว้แล้วเท่านั้น ตามระยะเวลาการจ่ายเงินที่คณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 กำหนดตามความเหมาะสมและประโยชน์ที่เกษตรกรพึงได้รับ

พร้อมกันนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งชี้แจงให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบเกี่ยวกับนโยบาย/โครงการประกันรายได้ คุณสมบัติของเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ ตลอดจนรายละเอียดอื่น

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 – ก.ย. 2563 หรือจนกว่า ธ.ก.ส. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยส่วนต่างรายได้ที่จ่ายให้แก่เกษตรกรและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการของ ธ.ก.ส. ตามที่เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ ในเอกสารสรุปผลการประชุม ครม. ยังระบุว่า สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันมีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการดำรงอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำให้แก่อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ไม่มีผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค