ไม่พบผลการค้นหา
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย 'ซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปไทย' เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งตัวใหม่ในช่วงโควิด-19 ยอดส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้มูลค่า 26.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 26 มีอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง ตามด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เช่น ซุปข้น ซุปเห็ด ซุปข้าวโพด ซุปไก่ ซุปปลา ซุปสำหรับเด็ก และซุปที่ต้องผสมน้ำร้อนก่อนรับประทาน เป็นผลิตภัณฑ์แจ้งเกิดของไทย เพราะมีจุดเด่นของรสชาติอาหารไทยที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ และคนต้องการซื้อไปบริโภค เพื่อรองรับการเว้นระยะห่าง และรองรับการอยู่บ้านมากกว่าการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านของบางประเทศ

ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา เซเนกัล ญี่ปุ่น และจีน

สำหรับในปี 2562 ไทยส่งออกซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปไปตลาดโลกมูลค่า 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปตลาดคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่า 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 81.5 ของการส่งออกสินค้าซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดของไทย และในช่วง 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปไปตลาดโลกมูลค่า 26.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 26 โดยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง มีมูลค่าส่งออก 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 30

โดยมีเมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนตลาดส่งออกสำคัญรองลงมา คือ ออสเตรเลีย มูลค่า 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 15 ญี่ปุ่น มูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 17 และฮ่องกง มูลค่า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 43

"ซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยมีคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าอาหารปรุงแต่งประเภทอื่นที่เป็นเนื้อเดียวกันที่ร้อยละ 24"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดสินค้าซุปสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปในประเทศจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มูลค่าตลาดในต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดส่งออก ซึ่งในระยะยาวสินค้าซุปยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมสินค้าพร้อมทาน และสอดรับกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปให้มีคุณลักษณะเหมือนอาหารปรุงสด ทั้งรสชาติ เนื้อสัมผัส วัตถุดิบ และคุณค่าทางโภชนาการ จึงทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น


Photo by Dose Juice on Unsplash