ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา 'ทางออกของประชาชน พรรคการเมือง ประเทศไทย' 'ธีระชัย'ชง 5 ข้อ ให้ 'ประยุทธ์' เตรียมตัว ก่อนเข้าประชุมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ลดแรงเสียดทานกับจีน ด้าน 'อาจารย์นิด้า' วิเคราะห์อนาคตทางการเมือง 'ประยุทธ์' ดูไม่สดใส หลังองค์ครักษ์ประจำตัวทยอยถูกคิดบัญชี ขณะ 'ปริญญา' ฟันธง 'ประยุทธ์' พ้นตำแหน่ง 24 ส.ค.นี้ โยน ศาล รธน. ตัดสินชัด รับเรื่องเมื่อไหร่ หลุดเก้าอี้ทันที

วันที่ 29 เม.ย. 2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กล่าวในงานเสวนา 'ทางออกของประชาชน พรรคการเมือง ประเทศไทย' จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 โดยระบุว่า เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีในการเข้าประชุมกับผู้นำอาเซียน 12-13 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ตลอด 8 ปี รัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย ทั้งในภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

กระบวนการค้าโลกกำลังเดินทางสู่จุดหักเหในระดับใหญ่ โดยแยกเป็น 2 ฝ่าย นำโดยสหรัฐอเมริกาและจีน ฝั่งที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะอาศัยข้อตกลงระหว่างประเทศมาเอาชนะสงครามการค้า ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อนำอิทธิพลของประเทศในคาบสมุทรอินเดียมาคานอำนาจกับจีน เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ได้เปลี่ยนแปลงไปในยุคของ โจ ไบเดน จนมีลักษณะของความมั่นคงและการทหารเข้ามา นำมาสู่ข้อกังวลของหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน เพราะองค์กรนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) แห่งที่ 2 จุดนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ พลาดท่า และอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

ธีระชัย ได้หยิบยกตัวอย่างของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกามาโดยดี และทรงวางดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ไว้อย่างลึกซึ้งด้วย แต่ทั้งหมดได้ถูกรื้อถอน เมื่อ 17 พ.ย. 2562 หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศเพื่อร่วมต่อต้านศัตรู ซึ่งไม่ใช่ นาโต ซึ่งนับว่าเกินเลยไปกว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของ 2 ประเทศ

การประชุมลักษณะนี้ หากไม่ระวัง จะยิ่งไปสุมไฟความขัดแย้งระหว่างจีนยิ่งขึ้น จึงขอเสนอว่า นายกฯ ควรจะมีการแถลงข่าวหลังการประชุมที่สหรัฐอเมริกา หรือในประเทศไทย หากไม่ได้เดินทางไปด้วยตนเอง เพื่อแสดงท่าทีของประเทศไทยให้ชัดเจน และอาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ในประเด็นต่างๆ อาทิ

ธีระชัย ย้ำว่า ไทยมีความยินดีต่อข้อเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก แต่เห็นว่าควรเปิดกว้าง ไม่ควรตัดประเทศใดนอกเหนือจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ออกไป หรือตั้งป้อมต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ควรเป็นข้อตกลงเชิงบวก ส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพิ่มเสรีทางการค้า แต่ไม่ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ


'อาจารย์นิด้า' ชี้อนาคต 'ประยุทธ์'ไม่สดใส หลังองค์ครักษ์ประจำตัวทยอยถูกคิดบัญชี

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมของประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางของแต่ละพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญโดยระบุว่า า เสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แม้จะพยายามหาทางหนีทีไล่โดยการตั้งพรรคสำรองไว้ แต่ก็ประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากองค์ครักษ์ประจำกายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้รับโทษถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามกันไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะถึงนั้น ดูไม่ค่อยมีความหวัง


'ปริญญา' ฟันธง 'ประยุทธ์' พ้นนายกฯ 8 ปี 24 ส.ค.นี้

ด้าน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญที่มีการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยชี้ว่าหากไม่มีการสืบทอดอำนาจมาถึงทุกวันนี้ ปัญหาบ้านเมืองก็คงไม่บานปลาย รวมถึงยังบอกว่าไม่เคยมียุคไหนที่ทำให้การเมืองไปขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวอย่างชัดเจน ก่อนจะย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือต้นตอของปัญหา

ปริญญา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกกับคนไทยทั้งประเทศว่า 'ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ทุกคน' สุดท้ายกลับสืบทอดอำนาจต่อด้วยเสียง สว. ที่โหวตเลือกเข้ามา และมีการแก้ไขทำให้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีได้เลย 

นอกจากนี้ ปริญญา ยังพูดถึงการนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่ยังคงเป็นคำถามว่าจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่แน่ นับจากปี 2557, 2560 หรือปี 2562 ปริญญา ได้ยกข้อกฎหมายและเทียบเคียงกับกรณีการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญคนก่อน พร้อมยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระหลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งเชื่อว่าจะมีบรรดา ส.ส.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน

ปริญญา ยังย้ำว่าหาก ส.ส.ไม่ยื่นตีความ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถยื่นตรงยังศาลได้เช่นกัน หากต้องการให้เรื่องทุกอย่างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และยุติธรรม โดยเมื่อศาลรับเรื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

"ขอให้ท่านมองถึงภาพรวมของประเทศ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็มาจากท่านเอง และขอการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอไม่เอา ส.ว. มาเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกหรือไม่" ปริญญา กล่าว