ไม่พบผลการค้นหา
ตัวเลขจีดีพี 1/2563 ของญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 2.2 YOY ดีกว่าค่าประเมินก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ 3.4 แต่นักวิเคราะห์ชี้ไตรมาส 2 อาจติดลบถึงร้อยละ 20

ข้อมูลแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 อาทิ การส่งออก ผลผลิตทางอุตสาหกรรม หรือตัวเลขคนตกงานแสดงให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนที่โควิด-19 มีต่อภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตามอัตราการเติบของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วในไตรมาสแรกของปีนี้กลับหดตัวลดลงเพียงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีกว่าค่าประเมินที่มองว่าจะลดลงมากถึงร้อยละ 3.4 

ขณะที่เมื่อเทียบแบบรายไตรมาส ตัวเลขในไตรมาส 1/2563 ของประเทศเศรษฐกิจอันดับที่สามของโลกหดตัวติดลบร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากที่เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบถึงร้อยละ 0.9 QoQ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนตกลงกว่าคาดการณ์เพิ่มเล็กน้อยจากติดลบร้อยละ 0.7 เป็น 0.8 QoQ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนกลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในแดนบวกถึงร้อยละ 1.9 QoQ จากตัวเลขคาดการณ์ติดลบร้อยละ 0.5 QoQ แต่ตัวเลขฝั่งการใช้จ่ายภาครัฐกลับทรงตัวในแนวราบ 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายรายกลับออกมาตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะทำการทบทวนตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับจีดีพีของประเทศแล้วว่ามีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นออกมาประกาศเองว่าสัดส่วนการตอบแบบสอบถามของบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดซึ่งอาจมีผลกับการคำนวณตัวเลขเศรษฐกิจได้ 

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ผ่านการทบทวนแล้วเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในรอบสี่ปีครึ่ง ตามนิยมภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ต้องมีจีดีพีติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่สองอาจหดตัวติดลบถึงร้อยละ 20 เพราะเป็นช่วงเวลาที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินรวมถึงการสั่งปิดเมืองเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งแม้คำสั่งเหล่านั้นจะถูกผ่อนปรนในช่วงปลายเดือน พ.ค.แต่เศรษฐกิจก็ยังต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัว

WT_ชินโซ อาเบะ.jpg
  • ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ด้านนายยาสุโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือเมติของญี่ปุ่นชี้ว่า เป้าหมายหลักของประเทศตอนนี้คือการช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยแนะว่าธนาคารกลางของประเทศควรจะเดินหน้าเข้าสู่การใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพิ่มเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดแม้ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางฯ จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นเวลา 2 เดือน อีกทั้งฝั่งรัฐบาลก็ใช้เงินกับมาตรการเยียวยาไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (62.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพีประเทศ

อ้างอิง; Bloomberg, JT, BT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;